ตามไปดูนักล่าจักจั่นหน้าแล้ง สร้างรายได้วันละ 1,000 บาท จ.นครพนม

View icon 59
วันที่ 23 มี.ค. 2566 | 06.07 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - เข้าสู้หน้าแล้ง อากาศอาจจะร้อน แต่สำหรับชาวบ้านที่นครพนม นี่คือโอกาสดีชนิดหนึ่งปีมีครั้งเดียว กับเมนูเด็ดอาหารป่า ล่าจักจั่นบนยอดไม้สูงในป่า ตามไปดูทักษะล่าจักจั่นของชาวบ้าน ทำยังไงถึงสร้างรายได้วันละพัน

ที่จังหวัดนครพนม ในช่วงนี้แม้หลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่สำหรับชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่าฤดูแล้ง ถือว่าเป็นโอกาสทอง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของ จักจั่น อาหารป่าหายาก 1 ปีมีครั้งเดียว ที่จะออกล่านำมาขายสร้างรายได้ ประกอบเมนูเด็ดอีสาน

ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพล่าจักจั่นในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จนถึงฤดูฝนมาเยือน โดยทุกเช้าจะเดินทางเข้าป่าไปล่าจักจั่นที่อยู่ตามต้นไม้สูงป่าเต็งรัง เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของจักจั่นตามธรรมชาติ

ส่วนการล่าจักจั่น ถือว่าเป็นอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน จะมีการนำยางไม้ คือ ยางต้นโพธิ์ ผสมกับยางต้นมะเดื่อ ทำให้เกิดความเหนียว นำมาใส่กระบอกไม้ไผ่ ใช้ไม้พันกับยางที่เหนียวได้ที่ และเสียบกับไม้ไผ่ ยาวประมาณ 10 เมตร เพื่อนำเป็นอุปกรณ์ล่าจักจั่น

ชาวบ้านสังเกตจากเสียง เมื่อพบเห็นจักจั่น จะนำยางไม้ติดปีกจักจั่นทีละตัว ส่วนราคาซื้อขาย ตกตัวละประมาณ 1-2 บาท ชาวบ้านบางคนมีความสามารถสูง สร้างรายได้วันละ 1,000 บาท ทำให้ในช่วงนี้ตามตลาดสด

และตลาดของป่าในพื้นที่คึกคักไปด้วยพ่อค้า-แม่ค้า ที่รับซื้อจักจั่นมาวางจำหน่าย เนื่องจากเป็นเมนูหายาก 1 ปีมีครั้งเดียว เพราะจักจั่นแต่ละตัวมีวัฏจักรวงจรชีวิต ตั้งแต่วางไข่อาศัยอยู่ใต้ดินกว่าจะขึ้นมาบนต้นไม้ ต้องใช้เวลา ประมาณ 5-7 ปี ทำให้ชาวบ้านนิยมนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารป่ารสเด็ด เช่น เด็ดปีกก่อนมาตำป่น ใส่เครื่องเคียง หัวหอม ต้นหอม มะม่วงรสเปรี้ยว รวมถึงนำไปคั่ว ทอด แกงใส่ผักหวาน ได้สารพัดเมนู ยิ่งหากขึ้นร้านอาหารอีสาน ตกราคาจานละ 200-300 บาท นับวันยิ่งหายาก เพราะบางรายมีการขุดไข่จักจั่น และตัวอ่อน มาขายราคาดี ถือเป็นเมนูหายากหนึ่งปีมีครั้งเดียว และเป็นของป่าที่สร้างรายได้ดีพอสมควร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง