คอลัมน์หมายเลข 7 : ส่องข้อพิพาท เทศบาลนครเกาะสมุย เพิกเฉย แก้ปัญหาบ่อขยะ

View icon 439
วันที่ 23 มี.ค. 2566 | 20.12 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ลงพื้นที่ไปติดตามเรื่องราวข้อพิพาทปัญหาบ่อกำจัดขยะ ซึ่งชาวบ้านฟ้องศาลปกครอง เพื่อเอาผิดเทศบาลนครเกาะสมุย ฐานเพิกเฉยในการปฏิบัติหน้าที่ จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม ติดตามจากรายงาน

เส้นทางการไหลของน้ำเสียที่มีสภาพเป็นสีดำ และมีกลิ่นเหม็นไหลเข้ามาในสวนมะพร้าวของชาวบ้าน ก่อนไหลไปตามร่องน้ำ แนวถนนที่ถูกขุดไว้ และไหลผ่านท่อใต้ถนนเข้าไปในที่ดินของชาวบ้าน แหล่งชุมชน คือภาพและข้อมูลที่พบ ขณะลงพื้นที่ร่วมกับพนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 14 เพื่อติดตามสภาพบ่อกำจัดขยะเทศบาลนครเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่กลุ่มชาวบ้านโดยรอบบ่อขยะ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อเอาผิดนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย และเทศบาลนครเกาะสมุย ฐานละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลแก้ไขปัญหาบ่อขยะ

ระหว่างการลงพื้นที่ คอลัมน์หมายเลข 7 ได้พบกับกลุ่มของชาวบ้าน และอดีตประธานชุมชน หมู่ 1 ตำบลมะเร็ต พวกเขาบอกเล่าถึงปัญหาน้ำชะขยะรั่วไหลลงสู่ลำรางสาธารณะ จนไม่สามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภค หรือ บริโภคได้ หนำซ้ำบางรายยังป่วยเป็นโรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ

ปัญหาน้ำชะขยะรั่วไหลลงสู่ลำรางสาธารณะ เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี และเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประชาชน และเงินงบประมาณที่ต้องนำมาใช้ในการบริหารจัดการ

ผู้บริหารของเทศบาลนครเกาะสมุย ยืนยันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เทศบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้พยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการกักน้ำที่ไหลก่อนออกไปในคลองท่าเร็ต รวมถึงใช้รถดูดส้วมดูดน้ำเสียออกไป แต่ก็ยอมรับว่าในการดำเนินการอาจมีอุปสรรค เพราะข้อจำกัดของพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูง

นอกจากที่เกาะสมุย ในประเทศไทยยังมีอีกหลายพื้นที่ ซึ่งเจอกับปัญหาการบริหารจัดการบ่อกำจัดขยะ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้าน จนสุดท้ายลุกลามบานปลาย กลายเป็นข้อพิพาท ต้องต่อสู้กันในทางกฎหมาย ซึ่งกว่าจะได้บทสรุปและทางออกอย่างเป็นรูปธรรมและยุติธรรม ก็ต้องใช้เวลานาน 

ทำอย่างไรให้การบริหารจัดการบ่อขยะ ซึ่งมีการศึกษารูปแบบวิชาการที่ถูกต้อง ได้ถูกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อย่างจริงจัง ไม่ใช่สักแต่ทำโครงการเพื่อให้ได้ใช้งบประมาณ โดยปราศจากการดูแล จนเกิดผลกระทบต่อประชาชน เป็นสิ่งที่ยังต้องติดตามต่อไป และจะดีกว่าหรือไม่ หากชาวบ้านหรือเราทุกคนเอง ต่างมีส่วนร่วมในการช่วยลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทางด้วย