ยึดกรดซัลฟิวริก 131 ตัน สารเคมีในกระบวนการผลิตยาบ้า-ไอซ์

ยึดกรดซัลฟิวริก 131 ตัน สารเคมีในกระบวนการผลิตยาบ้า-ไอซ์

View icon 181
วันที่ 28 มี.ค. 2566 | 19.02 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ยึดกรดซัลฟิวริก 131 ตัน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ ต้นทางส่งจากอินเดียปลายทางระบุเป็นเหมืองทองในเมียนมา แต่ไม่มีใบอนุญาตนำผ่าน สั่งยึดเพราะเป้นสารเคมีในกระบวนการผลิตยาบ้า-ไอซ์

วันนี้ (28 มี.ค.66) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เผยผลปฏิบัติการภายใต้โครงการสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าเรือสากล (SITF) ประกอบด้วย ป.ป.ส.  กรมศุลกากร กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจยึดกรดซัลฟิวริก จำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 131,670 กิโลกรัม เหตุเกิดที่คลังสินค้าอันตราย (JWD) ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

“การตรวจยึดครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรดซัลฟิวริก ถูกลำเลียงทางเรือจากต้นทางประเทศอินเดีย ปลายทางประเทศเมียนมา โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน สำแดงชนิดสินค้าเป็น SULFURIC ACID 98% (กรดซัลฟิวริก) ผู้ประกอบการให้การว่า กรดซัลฟิวริกจำนวนดังกล่าวจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองทองในประเทศเมียนมา แต่เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตนำผ่านจึงนำมาสู่การตรวจยึดในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 102 มาตรา 104 และมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ประกอบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย 2556 ที่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน จึงจะออกใบนำผ่านเพื่อเป็นหลักฐานการอนุญาตการ  นำผ่านราชอาณาจักร

นอกจากนี้ กรดซัลฟิวริกเป็นสารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) และไอซ์ โดยเป็นตัวทำปฏิกิริยา ดังนั้น เพื่อป้องกันการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ กรดซัลฟิวริกจึงถูกควบคุมตามประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดชื่อสารเคมี พื้นที่ควบคุม และหน้าที่ของผู้ทำธุรกรรม ภายใต้มาตรการป้องกันการลักลอบนำสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด พ.ศ. 2559 เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปใช้เป็นสารเคมีในขบวนการลักลอบผลิตยาเสพติด