เลือกตั้ง 2566 : การเมืองเข้มข้น หาเสียง ไม่พัก ไม่ผ่อน

View icon 214
วันที่ 30 มี.ค. 2566 | 11.31 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - การเลือกตั้งรอบนี้ เราได้เห็นความเข้มข้นในการหาเสียงมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีผู้เสนอตัวเข้ามาร่วมแข่งขันจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นบิ๊กเนม ขณะเดียวกัน ก็มีการชูนโยบายที่หลากหลาย โดยเฉพาะนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง ที่แต่ละพรรคเชื่อว่าจะเรียกคะแนนนิยมได้

การเมืองเข้มข้น หาเสียง ไม่พัก ไม่ผ่อน
ความเข้นข้นในการหาเสียง เห็นได้จากการลงพื้นที่ของแกนนำแต่ละพรรค โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ที่งานราชการก็ต้องทำ งานหาเสียงก็ต้องลุย อาศัยช่วงนอกเวลาราชการ ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียง และหลายครั้งก็ต้องลาราชการ เพื่อปฏิบัติภารกิจของพรรค

พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมนำทัพ รทสช. ลงสมัครรับเลือกตั้ง
อย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันนี้ มีภารกิจตลอดทั้งวัน ทั้งพบแขกต่างประเทศ และประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หลังเวลาราชการ จะเข้าที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ ประชุมดูความคืบหน้าเรื่องบัญชีรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร สส. ซึ่งมีรายงานว่า วันที่ 3 และ 4 เมษายนนี้ พลเอกประยุทธ์ จะนำทัพผู้สมัครไปลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง และจะขึ้นรถแห่หลังได้หมายเลข ส่วนเวทีปราศรัยหลังจากนั้น วางแผนจะเปิดเวทีที่ กทม. เป็นเวทีแรก ในวันที่ 7 เมษายนนี้

อุ๊งอิ๊งค์ โพสต์ลาคลอด ก่อนกลับมาลุยหาเสียงต่อ
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่อุ้มท้องหาเสียงมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้โพสต์เฟซบุ๊กขอไปลาคลอด เพราะท้อง 8 เดือนกว่าแล้ว โดยระบุว่าเวทีปราศรัยที่จังหวัดปทุมธานีเมื่อวานนี้ เป็นเวทีสุดท้าย จากนี้จะต้องหาเสียงด้วยการโฟนอินเท่านั้น แต่จะกลับมาอีกครั้ง 5 เมษายนนี้แน่นอน

ภาคเอกชนแนะทบทวนนโยบายขึ้นค่าแรง
ซึ่งเช้านี้ หอการค้าไทย เปิดเวที สะท้อนมุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะนโยบายปากท้อง โดยภาคเอกชน แนะรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญแบบหยั่งราก ตั้งแต่ปรับโครงสร้างด้านการศึกษา พุ่งเป้าการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งมองว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก โครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสาร ติดอันดับ 15 ของโลก

แต่อันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้านดิจิทัล กลับอยู่ในอันดับที่ 40 การลงทุนจากต่างประเทศ ลดลงจาก 14% เหลือเพียง 2% ถึงเวลาปรับระบบการศึกษาไทย ให้สามารถแข่งขันได้ ท่ามกลางความท้าทายของโลก ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ, การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล, การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ และโลกแบ่งขั้ว

นอกจากนี้ การค้าการลงทุนต้องปรับ รัฐบาลใหม่ควรให้สิทธิประโยชน์นักลงทุน เพื่อสร้างจุดขายให้ประเทศไทย แก้ปัญหาปากท้อง เพื่อลดสัดส่วนคนจน ชี้วัดได้จากจำนวนขอทานในประเทศต้องลดลง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ต้องโตได้ 7%

ขณะที่ การอัดฉีดสวัสดิการแรงงานต้องตอบโจทย์ ทั้งงบประมาณ กำลังคน กระทรวงแรงงาน ต้องปรับโครงสร้างทั้งระบบ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของไทย ปรับการดูแลแรงงานผ่านอัตราจ้าง และการให้สวัสดิการ เพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงานไทย ย้ำอัตราค่าแรงในประเทศไทยสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ การปรับค่าแรงแต่ละครั้ง ผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้ประโยชน์อื่น ๆ ที่ภาคแรงงานต้องได้รับ
 
โดยปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้