ห้องข่าวภาคเที่ยง - นโยบายหาเสียงเลือกตั้งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญต่อการจูงใจ ให้เลือกผู้สมัครและพรรค โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่มักเป็นที่ถูกอกถูกใจ หรือมักเรียกกันว่า นโยบายประชานิยม ทำให้เป็นที่ถูกจับตา โดยเฉพาะนโยบายการเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย
เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใส่กระเป๋าเงินคนไทย
จะเห็นได้ว่าหลายพรรคการเมือง เดินหน้าหาเสียงและเปิดตัวนโยบายเพื่อดึงดูดใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่เรียกกันว่านโยบายประชานิยม อย่างที่เห็นไปก็มีหลายนโยบายจากหลายพรรค ทั้ง บัตรประชารัฐ เติมเงิน 700 บาท บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาทต่อเดือน หรือ บำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาท แต่ที่เปิดตัวล่าสุดวานนี้ พร้อมแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย คือ จำนวนเงินเหรียญดิจิทัลที่จะเปิดเติมลงในกระเป๋าเงินดิจิทัล จำนวน 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป เพื่อใช้จ่ายใกล้บ้านระยะทาง 4 กิโลเมตร ภายในเวลา 6 เดือน ให้หลายคนสงสัยจำนวนคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป นั้นต้องใช้ประมาณเท่าไหร่ และมีแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวนั้นมาจากไหน
พรรคเพื่อไทย ยืนยัน มีแหล่งเงินและดำเนินการโปร่งใส
เรื่องนี้ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวนี้เป็น 1 ในแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคจะเดินหน้าไปพร้อมกับนโยบายสร้างรายได้ 20,000 บาทต่อครอบครัว ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร 1 ครอบครัว 1 ซอฟพาวเวอร์ ซึ่งงบประมาณและแหล่งที่มานั้นทางพรรคได้มีแนวทางและได้แจงกับกรรมการการเลือกตั้ง ตามกฎหมาย ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐ และวินัยการเงินการคลัง เหมือนกับพรรคการเมืองอื่น
นโยบายหาเสียง ต้องเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง และวินัยการเงิน
โดยกฎหมายที่มากำกับการออกนโยบายหาเสียง ที่ต้องแจงการใช้เงินและงบประมาณเพื่อความคุ้มค่านั้น คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และในมาตรา 57 กำหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน จะต้องมีรายละเอียด วงเงินที่ต้องใช้และที่มา รวมถึงผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
ในขณะที่ก็มีพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ 2561 ที่จะมาเป็นกรอบควบคุมการใช้งบประมาณนโยบายหาเสียงที่อาจใช้งบประมาณมหาศาลและจะเกิดประโยชน์ระยะยาวหรือไม่ เพื่อให้ทุกนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองเป็นไปอย่างรอบคอบ
แนะกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเหมาะสม ลดเสี่ยงภาระการคลัง
ด้าน นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ก็มองในประเด็นที่พรรคเพื่อไทย ประกาศให้เงินจำนวน 10,000 บาท ที่ต้องใช้ในระยะเวลา 6 เดือน ว่า เมื่อคิดจากฐานจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง บวกกับประชากรที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ก็จะพบว่ามีประชาชนกว่า 55 ล้านคน จะได้รับเงินนี้ คิดเป็นงบประมาณกว่า 550,000 ล้านบาท
ซึ่งหากมองในมุมการจัดหาเงินงบประมาณมาใช้ก็มีช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ การปรับลดเม็ดเงินงบประมาณประจำ หรือการออก พ.ร.ก.เงินกู้ เหมือนกับที่รัฐบาลที่ผ่านมาเคยดำเนินการ
แต่อยากจะขอเตือนว่า หากเลือกใช้ไม่ว่าจะวิธีใด ก็จะเกิดผลกระทบ โดยเฉพาะการกู้เงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการบริโภค ที่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่จะย้อนคืนมาเป็นรูปแบบภาษี ทั้งภาษีแวต, ภาษีนิติบุคคล ก็อาจไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับภาระหนี้ที่ตามมา
เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้ง 66 #วาระคนไทย ได้ที่ www.ch7.com/election2566
ช่องทางโซเชียลมีเดีย
Facebook : www.facebook.com/Ch7HDNews
Twitter : www.twitter.com/Ch7HD
IG : www.instagram.com/ch7hd_news
TikTok : www.tiktok.com/@ch7hd_news
Youtube : www.bit.ly/youtubech7hd