กล้องโทรทรรศน์อวกาศ จับภาพดาวฤกษ์หลากสีสันนับล้านดวง กระจุกตัวรวมกันภายในกาแล็กซีทางช้างเผือก ห่างจากโลก 50,000 ปีแสง
วันนี้ (19 เม.ย.2566) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้โพสต์ภาพ กลุ่มดาวฤกษ์ระยิบระยับ โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ได้นำภาพดวงดาวเจิดจรัสหลากสีสันภายใน "NGC 6355" กระจุกดาวทรงกลมที่อยู่ลึกเข้าไปภายในกาแล็กซีทางช้างเผือก บริเวณกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) และห่างจากโลกที่ระยะทาง 50,000 ปีแสง
กระจุกดาวทรงกลม (Globular Cluster) เป็นพื้นที่ที่ดาวฤกษ์ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านดวงรวมตัวกันด้วยแรงโน้มถ่วง มีแรงดึงดูดระหว่างกัน และมีประชากรดาวฤกษ์ที่หนาแน่น ทำให้มีการกระจายตัวเป็นทรงกลม บริเวณใจกลางจะเป็นบริเวณที่มีดาวฤกษ์รวมตัวกันหนาแน่นมากที่สุด และกระจายตัวอย่างประปรายบริเวณรอบนอก
ในภาพนี้เราจะเห็นสมาชิกดาวฤกษ์นับไม่ถ้วนที่ส่องประกายบริเวณใจกลางกระจุกดาว NGC 6355 เป็นผลงานจากการบันทึกโดยกล้องสำรวจขั้นสูง Advanced Camera for Surveys (ACS) และกล้องถ่ายภาพมุมกว้าง Wide Field Camera 3 (WFC3) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ด้วยความสามารถในการแยกภาพที่ทรงพลัง และมีจุดสังเกตการณ์ที่ได้เปรียบเนื่องจากลอยอยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก จึงสามารถบันทึกภาพสมาชิกภายในกระจุกดาวทรงกลมได้คมชัดและมีความละเอียดสูง เทคโนโลยีนี้นับว่าปฏิวัติการศึกษากระจุกดาวทรงกลมไม่น้อย เนื่องจากการสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินจะมีข้อจำกัดทางแสงที่ถูกบิดเบือนโดยชั้นบรรยากาศโลก ทำให้ได้ความละเอียดคมชัดน้อยกว่าการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ