ชัยวุฒิ โพสต์โชว์ลูกชายชอบกินไข่ต้ม ชูอาหารไม่มีชนชั้น

View icon 136
วันที่ 24 เม.ย. 2566 | 06.22 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - จากดรามาแบบเรียนชั้นประถม "ภาษาพาที" บท "เกี๊ยวใจแตก" เมื่อ 3 ปีก่อน สู่ความสุขของเด็กหญิงใยบัวที่ได้กิน "ข้าวไข่ต้มคลุกน้ำปลา" ในปีนี้ หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงเวลาปรับแบบเรียนใหม่หรือยัง ขณะที่รัฐมนตรี "ชัยวุฒิ" เลือกเดินสวนกระแส โพสต์คลิปกินไข่ต้มกับลูกชาย บอกลูกชอบกินอร่อยดีมีประโยชน์ วันนี้เราจะมาขยายเรื่องนี้กัน

นี่คือหนังสือเรียนสำหรับชั้นประถม 1-6 รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำขึ้นสำหรับนักเรียนใช้ฝึกทักษะและสร้างนิสัยรักการอ่าน

ประเด็นที่เป็นดราม่าในขณะนี้ หนังสือชุดนี้สำหรับชั้นประถม 5 เป็นการเล่าเรื่องราวสมมติผ่านมุมมองของเด็กหญิงใยบัว ที่มีฐานะดี แต่วันหนึ่งน้อยใจพ่อแม่ที่ไม่ยอมเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้ใหม่ จึงมาตัดพ้อกับเด็กหญิงข้าวปุ้น ข้าวปุ้น จึงพาบ้านเธอซึ่งเป็นบ้านเด็กกำพร้า ได้กินข้าวกันกับเด็กกำพร้าคนอื่น ๆ ซึ่งเมนูมีผัดผักบุ้ง 1 จาน กับไข่ต้มผ่าครึ่งฟองตามจำนวนคน ข้าวปุ้นแนะให้ใยบัว เอาไข่ครึ่งฟองมาคลุกข้าวกับน้ำปลากิน แล้วบทก็บรรยายถึงความสุขที่ได้กินต่าง ๆ นานา จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแบบเรียนที่ล้าสมัยมาก ที่สำคัญคือไม่ใส่ใจเรื่องโภชนาการซึ่งสำคัญต่อเด็กวัยนี้

ผู้ที่ออกมาสะท้อนมีหลายคนดังเช่น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เราควรปล่อยให้เด็กไทยยอมรับสภาพการกินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาบี้ไข่ จริง ๆ หรือ?

สอดคล้องกับ นายแพทย์ จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ ที่ตั้งคำถามว่า อาหารของเด็กไม่ใช่แค่กินเพื่ออิ่มท้อง สิ่งสำคัญ คือ คุณค่าทางโภชนาการ ที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง กล้ามเนื้อ และการทำงานของเอนไซม์ในระบบต่าง ๆ หากวิสัยทัศน์มีเพียงแค่อิ่มท้อง กับ สุขใจ แต่ไม่คำนึงถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อเด็ก น่าเป็นห่วงอนาคตของชาติ ภายใต้การกำหนดทิศทางการศึกษาจากคนบางกลุ่มที่ยังล้าหลังแบบนี้ แล้วก็โพสต์อีกโพสต์ว่า "หนังสือแบบเรียน" ก็คือแบบเรียน ถือเป็นเอกสารทางวิชาการชนิดหนึ่ง ถ้าการเขียนไม่ได้ตั้งบนพื้นฐานความถูกต้อง ความเหมาะสมที่ควรจะเป็น แต่ไปเน้นความโรแมนติกควรเรียกสิ่งนั้นว่า "นิยาย" มากกว่านะครับ”

ส่วนอีกคนหนึ่ง มาสั้น ๆ แบบเน้น ๆ ไพรวัลย์ วรรณบุตร โพสต์ว่า "ดิฉันเคยโตมาด้วยการกินไข่ต้ม 1 ลูกแบ่งกัน 3 คน ดิฉันจึงอยากบอกว่า การกินหลากหลายจำเป็นมากค่ะ และการขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเลย จบ"

เมื่อเสียงวิจารณ์มาแบบนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ออกมาชี้แจงว่า เจตนาของผู้แต่งคือ สอนเด็กให้เรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ การวิเคราะห์เนื้อหาเพียงบางส่วนของเนื้อเรื่องทั้งหมด อาจทำให้เข้าใจสาระสำคัญของเรื่องไม่ถูกต้อง กรณีที่มีการตั้งคำถามถึงประเด็นโภชนาการที่ไม่เพียงพอเป็นการตีความคลาดเคลื่อน สพฐ. มีระบบดูแลเรื่องโภชนาการอยู่แล้ว ผู้อ่านต้องมีวิจารณญาณในการแยกแยะระหว่างเรื่องที่แต่งขึ้นกับเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน ประเด็นที่ปรากฏในสื่อโซเซียล จึงเป็นการใช้ตรรกวิบัติที่นำเรื่องในชีวิตประจำวันมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่แต่งขึ้น การเผยแพร่ความคิดเห็นเฉพาะบุคคลที่มีต่อเรื่องดังกล่าวในระบบออนไลน์อาจทำให้เกิดการด้อยค่า ดูหมิ่น เกลียดชัง หรือ ความเข้าใจผิดต่อแบบเรียน และคุณภาพด้านวิชาการของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นวงกว้างได้

ขณะที่อีกหนึ่งคนที่ออกตัวปกป้องถึงขนาดก็คือ รัฐมนตรี ชัยวุฒิ ที่โพสต์คลิปให้ลูกกินไข่ต้ม แบบนี้ หลังจากโพสต์คลิปดังกล่าวออกไป ชาวโลกออนไลน์ก็ไม่วายจับผิดอีก เช่นว่า พ่อถาม : กินไข่อยู่แล้วทุกวันใช่มั้ยครับ ลูกกลับตอบ : ไม่ค่อยทุกวัน ทำไมไม่เตี๊ยมกันก่อน และอีกข้อสังเกตหนึ่งที่สะท้อนกันมามาก ก็คือเรื่องนี้มันไม่ใช่ประเด็นเด็กชอบ หรือ ไม่ชอบ แต่คือท่ามกลางความเหลื่อมล้ำสูง มันมีเด็กที่มีทางเลือกในการกินกับไม่มีอยู่จริง

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ แบบเรียน "ภาษาพาที" ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ราวปี 2563 แบบเรียนของเด็กประถม 6 ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการยัดเยียดความคิดที่มีอคติให้ผู้เรียนหรือไม่ จนเกิดแคมเปญที่ชื่อ #Saveเกี๊ยว 

เรื่องนี้มาจากบทเรียน "เสียแล้วไม่กลับคืน" เนื้อหามุ่งสอนใจ เรื่องรักนวลสงวนตัว ผ่านตัวละครชื่อ "เกี๊ยว" เนื้อหามีลักษณะตีตราพฤติกรรมของเกี๊ยวว่าใจแตก หนีเรียน ร่วมแก๊งมอเตอร์ไซค์ ชีวิตจึงล้มเหลว แต่ก็มีคนจำนวนมากตั้งคำถามจำนวนมากว่า แบบเรียนนี้ แม้ดูเหมือนว่าต้องการสอน แต่อีกทางหนึ่งก็คือความต้องการจะลดคุณค่าผู้หญิง เน้นย้ำปลูกฝังให้ต้องมีกรอบและปฏิบัติตัวในแบบที่ถูกกำหนดไว้ในสังคมที่มีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่เท่านั้น ทำให้มีข้อเรียกร้องต่อ กระทรวงศึกษาธิการ ปรับเปลี่ยนเนื้อหาในแบบเรียนให้สอดคล้องกับคุณค่าที่เป็นสากลมากขึ้น เช่น การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมเป็นต้น