ประกวดพานบายศรีถวายเจ้าพ่อพญาแล ค้านสายตา ชาวบ้านไม่พอใจการตัดสิน

ประกวดพานบายศรีถวายเจ้าพ่อพญาแล ค้านสายตา ชาวบ้านไม่พอใจการตัดสิน

View icon 8.9K
วันที่ 3 พ.ค. 2566 | 11.04 น.
ข่าวช่อง7HD
แชร์
ประกวดพานบายศรีถวายเจ้าพ่อพญาแล ค้านสายตา ชาวบ้านไม่พอใจการตัดสิน จี้คณะกรรมการแจง หลักเกณฑ์การให้คะแนน เทียบพานบายศรีที่ชนะ เผย มั่นใจต้องได้ ที่ 1 ไม่ก็ที่ 2 แต่ผลออกมา ไม่ติดฝุ่น แม้รางวัลรั้งท้าย

นางสาววิรุณภัสร์ ศรีตะปัญญะ ประธานชุมชนเมืองน้อยใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ พร้อมกับตัวแทนชาวบ้านจำนวน 20 คน ออกมาวิงวอนขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชน ไปยังคณะกรรมการตัดสินการประกวดพานบายศรีถวายเจ้าพ่อพญาแล เพื่อขอให้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่ลูกบ้านและคณะผู้จัดทำบายศรี ออกมาร้องไห้ด้วยความเสียใจ และไม่พอใจในผลการตัดสิน การประกวดพานบายศรี ที่เชื่อว่าไม่เกิดความเป็นธรรม และผลการตัดสินที่ค้านสายตา อยากให้คณะกรรมการทั้งคณะออกมาชี้แจงผลการตัดสิน โดยนำผลคะแนนพานบายศรีที่ชนะเลิศทุกรางวัลมาแจกแจงรายละเอียด ตามเงื่อนไขและกติกาที่กำหนดขึ้นมา ซึ่งหากผลคะแนนออกมาหากทางชุมชนเมืองน้อยใต้ทำผิดกติกา ยินดีที่จะยุติการประท้วง แต่หากพบว่าเป็นการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมและมีความเอนเอียง คณะกรรมการทั้งคณะ จะต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยคืนตำแหน่งให้กับชุมชนที่เขาสมควรจะได้รับ และคณะกรรมการทั้งคณะต้องยุติบทบาทในการเป็นกรรมการตัดสินตลอดกาล ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยว กับงานตัดสินทุกประเภทของงานเจ้าพ่อพญาแล

นางสาววิรุณภัสร์ ศรีตะปัญญะ เล่าว่า ในการจัดทำพานบายศรีถวายเจ้าพ่อปีนี้ ชุมชนได้รับความร่วมมือจากลูกหลานที่มีความรู้ความสามารถในการทำพานบายศรีที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ มาร่วมทำด้วยจิตอาสาไม่ได้เรียกร้องเงินค่าดำเนินการใดๆ และที่สำคัญเดินทางมาจากแทบทุกจังหวัด เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนครใต้ วิชาเอกคณกรรม และนักศึกษาที่เรียนจบจนออกไปเปิดกิจการร้านดอกไม้,รับงานออแกไนท์,และครูที่มีมีความรู้โดยตรง ชุมชนได้รับเงินบริจาคจากชาวบ้านในการดำเนินการสร้างพานบายศรีมากกว่า 5 หมื่นบาท และได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมือง 5 พันบาท โดยเงิน 5 พันบาท เทศบาลได้อนุมัติงบประมาณ เพื่อให้แต่ละชุมชนสร้างพานบายศรีในงบประมาณเท่ากัน สิ่งที่ตนรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อเห็นความตั้งใจจริงของลูกหลานที่อดตาหลับขับตานอนหามรุ่งหามค่ำ เพื่อทำพานบายศรีให้ออกมาตรงตามเงื่อนไข และโจทย์ที่ทางคณะกรรมการกำหนดมา และหลังจากที่นำมาเทียบกับพานชุมชนอื่น ทุกคนต่างชื่นชอบพานบายศรีของชุมชนเมืองน้อยใต้ ซึ่งลูกหลานต่างมีความคาดหวังว่าถ้าไม่ติดอันดับ 1-2 ก็น่าจะเป็นอันดับ 3 แต่เมื่อผลการตัดสินออกมาทุกคนต่างนั่งร้องไห้ด้วยความช็อกต่อการตัดสินของคณะกรรมการ เพราะไม่ติดอันดับ แม้รางวัลชมเชย

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบริเวณที่จัดเก็บพานบายศรีถวายเจ้าพ่อพญาแล ที่ตั้งโชว์ไว้ให้ผู้ที่เดินทางมากราบไหว้เจ้าพ่อได้ชื่นชมที่บริเวณศาลหนองปลาเฒ่า พบว่าทุกพานอยู่ในสภาพที่เหี่ยวเฉา ตามสภาพการณ์ที่ผ่านงานเจ้าพ่อมานานหลายวัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีชาวบ้านเดินทางมากราบไหว้ขอพรเจ้าพ่อพญาแล เป็นจำนวนมาก แต่สังเกตว่าไม่มีใครสนใจที่จะชมพานบายศรีที่นำมาโชว์

นายอานนท์ กาชัย อายุ31 ช่างบายศรี  หัวหน้าช่างทำพานบายศรี ออกมายอมรับว่ารู้สึกตกใจและช็อก หลังคณะกรรมการประกาศรางวัลชมเชยรางวัลสุดท้ายไม่มีชื่อของขุมชนเมื่องน้อยใต้ติดอันดับใดๆ ขอยืนยันว่าการที่ออกมาแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ไม่ใช่ขี้แพ้ชวนตี แต่ตนและทีมงานรวมทั้งหลายชุมชนต่างมีความเห็นตรงกันว่าค้านสายตา ประเด็นที่ตนติดใจคือ ไม่มีรายละเอียดของกติกา ที่ชัดเจน,คณะกรรมการตัดสินไม่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการขั้นตอนในการพานบายศรี และที่สำคัญเมื่อการประกวดตัดสินจบลงได้มีการทักท้วง แต่กรรมการไม่รับฟัง และไม่ชี้แจง  ตนอยากเห็นความโปร่งใสในการตัดสิน ซึ่งเป็นงานละเอียดอ่อนมาก จำเป็นต้องเลือกใช้คณะกรรมการที่มีความรู้เฉพาะทางเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสิน เนื่องจากการประกวดทำบายศรี เป็นการแข่งขันภายใต้พลังศรัทธา ที่ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้มุ่งหวังในเวินรางวัล แต่มุ่งมั่นที่จะสรรสร้างผลงานให้ถูกต้องตามประเพณี และที่สำคัญสร้างชื่อเสียงให้กับทีมงานผู้ทำ วันนี้วิงวอนขอให้คณะกรรมการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงตลอดจนตอบข้อสงสัยในการให้คะแนน ซึ่งหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตนขอเสนอให้ยกเลิกการแข่งขันประกวดพานบายศรีเสีย แค่ให้แต่ละชุมชน และผู้ศรัทธาทำมาถวายเจ้าเป็นการส่วนตัวยังจะมีความศรัทธามากกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง