“โนวิด” คนเสี่ยงแต่ยังไม่ติดโควิดเป็นความหวังรับมือโรคระบาดใหม่

“โนวิด” คนเสี่ยงแต่ยังไม่ติดโควิดเป็นความหวังรับมือโรคระบาดใหม่

View icon 704
วันที่ 11 พ.ค. 2566 | 15.11 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมอยง ระบุคนกลุ่มเสี่ยง ใกล้ชิดกับผู้ติดโควิดแต่ไม่ติดเชื้อเรียก “โนวิด” นักวิจัยสนใจศึกษาพันธุกรรม ยีนในตัวคนกลุ่ม “โนวิด” เป็นแนวทางรับมือโรคระบาดใหม่  ย้ำเตือนโควิดเข้าสู่การระบาดอีกระลอก สายพันธุ์ดาวดวงแก้วกำลังมาแทนที่ติดง่ายกว่าเดิม 1.2 เท่า

วันนี้ (11 พ.ค.66)  ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้อธิบายถึง “โนวิด-โควิด”  โดยระบุว่า
โควิด-19 ได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาล และขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรคโควิดในช่วงฤดูฝน และช่วงนักเรียนเปิดเทอมแรก  ซึ่งการระบาดรอบใหม่ของโควิดเป็น สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว Arctulus (XBB.1 .16) ความรุนแรงไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม แต่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

โควิดสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (XBB.1.16) เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้นกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียมีรายงานว่าเข้ามาในประเทศไทยในช่วงต้นปี 2566  และกำลังเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ปลาหมึกยักษ์ (Kraken) XBB.1.5 ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน 

สำหรับ  โควิด-19 สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (XBB.1.16)  แพร่ระบาดง่ายและเร็วขึ้นประมาณ 1.2 เท่า  แต่ไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม แต่หากมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องพบผู้ป่วยอาการมากเป็นอัตราส่วนปกติ

สำหรับการรักษาผู้ติดโควิด-19 สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว ยังคงใช้วิธีการเช่นเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเฝ้าระวังอันตรายในกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี

ส่วน “โนวิด” (Novid)  มาจากการรวมคำว่า “No" และ "COVID" เข้าด้วยกัน หมายถึงผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด เช่นบุคคลในครอบครัวเป็นโควิด แม่ ลูกใกล้ชิดกันมากแต่ไม่ติดเชื้อ ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก หลีกเลี่ยงยาก เช่น ในสถานบันเทิง ตลาด สัมผัสผู้คนจํานวนมาก แต่ก็ไม่เป็นโควิดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ปัจจุบันพบคนที่ยังไม่ติดโควิด-19 น้อยกว่า 20% ทั้งนี้มีบางคนอาจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ยังไม่ติด แต่บางคนก็อยู่ในสถาการณ์สัมผัสโรค แต่กลับไม่ติด ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าโนวิด” ศ.นพ.ยง กล่าว

งานวิจัยหลากหลายแห่งได้ให้ความสนใจทางพันธุกรรมหรือยีนบางอย่างที่มีกลไกในการต้านทานการรับเชื้อ จากงานวิจัยพบผู้ป่วย HIV อาจจะมียีนจําเพาะต่อต้านการเข้าเซลล์ของเชื้อ HIV ในโควิด ซึ่งยังไม่รู้แน่ชัดว่ามียีนต้านทานโควิดหรือไม่ เชื่อว่ามีเพียงจำนวนน้อยมาก มีการดำเนินการวิจัยอยู่ จากหลายภาคส่วน เพื่อหาวิธีการรับมือกับโรคระบาดต่อไป

วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และช่วยลดความรุนแรงของโรค ได้  คนในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรค เช่น ผู้ที่สัมผัสกับผู้คนเป็นจำนวนมาก บุคลากรด่านหน้า ควรฉีดเข็มกระตุ้นปีละครั้ง  ส่วนในคนปกติที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็คงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
“นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การป้องกันโรค COVID-19 ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งก็เหมือนกับวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ แนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการเบื้องต้น เช่น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ รักษาความสะอาดโดยใช้น้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการหายใจใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย” ศ.นพ.ยง กล่าว