ครม. อนุมัติ วาฬสีน้ำเงิน เป็นสัตว์ป่าสงวน หายากใกล้สูญพันธุ์

ครม. อนุมัติ วาฬสีน้ำเงิน เป็นสัตว์ป่าสงวน หายากใกล้สูญพันธุ์

View icon 250
วันที่ 24 พ.ค. 2566 | 11.14 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดให้ “วาฬสีน้ำเงิน” เป็นสัตว์ป่าสงวน เผยเป็นสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ มีรายงานพบในไทย 3 ครั้งฝั่งอันดามัน

วันนี้ (24 พ.ค. 66) นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ทช.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในด้านการสงวน อนุรักษ์ และคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก ได้เสนอรายชื่อปลาฉลามเสือดาวในการกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และวาฬสีน้ำเงิน ในการกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

โดยที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 23 พ.ค. มีมติอนุมัติและเห็นชอบ อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรฯ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา พร้อมกับให้กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการประกาศยกเลิกการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) เป็นสัตว์ป่าควบคุมโดยให้มีผลใช้บังคับในวันเดียวกับร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงทรัพยากรฯ เสนอ โดยร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวน เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าควบคุมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ. 2565 แต่โดยที่วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้ถูกขึ้นบัญชีสถานภาพให้เป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species: EN) ในระดับโลก (IUCN Red List) และในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

นายอภิชัย กล่าวว่า วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ ในประเทศไทยเองมีข้อมูลการพบเห็นวาฬสีน้ำเงินเฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเพียง 3 ครั้ง โดยพบครั้งแรก เมื่อปี 2550 ที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ต่อมาพบเข้ามาเกยตื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อปี 2556 ล่าสุดเมื่อปี 2560 พบที่หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา สำหรับลักษณะของวาฬสีน้ำเงิน ส่วนหัวมีสีน้ำเงินสม่ำเสมอ ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำเงินอมเทา ส่วนท้องสีจางกว่าเล็กน้อย ด้านหลังและด้านข้างมีลายสีน้ำเงินหรือเทาอ่อนมีลักษณะเป็นดวงๆ เหมือนรอยด่าง ลำตัวเพรียวยาว ส่วนหัวกว้างคล้ายตัวยู (U-shaped) เมื่อมองจากด้านบน มีสันกลางหัว 1 สัน มีช่องหายใจขนาดใหญ่ 2 รู มีซี่กรอง 260-400 คู่ แต่ละซี่ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร ลักษณะของซี่กรองค่อนข้างหยาบ มีร่องใต้คาง 60 -88 ร่อง ยาวเกือบถึงสะดือ ครีบหลังมีขนาดเล็กอาจมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหรือลาดเอียง ปลายครีบแหลมหรือกลมมน ฐานครีบหลังตั้งอยู่ค่อนไปทางหาง คอดหางหนา ครีบข้างเพรียวยาว ปลายครีบแหลม และมีสีอ่อนกว่าส่วนอื่นของครีบ มีความยาวได้ถึงร้อยละ 15 ของความยาวลำตัว ครีบหางกว้างประมาณ 1 ส่วน 4 ของความยาวลำตัว มีร่องกึ่งกลางระหว่างแพนหาง

อย่างไรก็ตาม หากวาฬสีน้ำเงินถูกยกระดับให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ภาครัฐจะต้องมีการดูแลและหามาตรการที่เข้มงวด ครอบคลุมจะไม่รบกวนหรือคุกคามและก่อให้เกิดอันตรายกับวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งจะเป็นการรักษาระบบนิเวศของสัตว์ทะเลให้เกิดความสมบูรณ์นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนให้มีจิตอนุรักษ์ ดูแลระบบนิเวศวิทยาทางทะเล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีสัตว์ทะเลหายากขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวน (ตาม พ.ร.บ.) สัตว์ป่าสงวน (ตาม ร่าง พ.ร.ฎ.) คือ พะยูนหรือหมูน้ำ (Dugong dugon) วาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni) วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai) และล่าสุดประกาศให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง