อดิศร ขู่ก้าวไกล ไม่ให้ ปธ.สภาฯ ระวัง เพื่อไทย ไม่ร่วมรัฐบาล

View icon 72
วันที่ 25 พ.ค. 2566 | 07.14 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ยังตั้งรัฐบาลไม่เสร็จ ว่าที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ก็ทำท่าว่าจะแตกคอกันซะแล้ว โดยเฉพาะประเด็น ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ 2 พรรคใหญ่ ทั้ง ก้าวไกล และ เพื่อไทย ต่างก็หมายตาอยากครอบครอง ศึกนี้จะจบอย่างไร ใครเป็นต่อ ใครเป็นรอง ไปติดตามกัน

อดิศร ขู่ก้าวไกล ไม่ให้ ปธ.สภาฯ ระวัง เพื่อไทย ไม่ร่วมรัฐบาล
บอลลูกนี้ถูกเขี่ยโดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ตามที่เรารายงานไปเมื่อวานว่า อาจารย์ออกมาเตือนพรรคก้าวไกล จะถอยอะไรก็ถอยได้เพื่อตั้งรัฐบาล แต่สิ่งที่ยอมไม่ได้ คือ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็กลายเป็นปฐมบทแห่งการตอบโต้ไปมา ระหว่างคนของพรรคก้าวไกล กับ เพื่อไทย

เริ่มที่ คุณอดิศร เพียงเกษ อดีตโฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะว่าที่ สส. พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ถ้าพรรคก้าวไกลอยากได้ทุกตำแหน่ง ต้องได้เสียงเกินครึ่ง เหมือนในสมัยพรรคไทยรักไทย ที่ได้มาถึง 377 เสียง เพราะหากดู สส. ที่มีในตอนนี้ คนของพรรคเพื่อไทยมีความเหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาฯ มากกว่า อีกทั้ง เมื่อมีนายกรัฐมนตรีเป็นคนหนุ่มไฟแรงแล้ว ก็ไม่ควรกินรวบอีก และอาจหาทางออกด้วยการให้ที่ประชุมสภาฯ ชี้ขาดโหวตเลือกว่า จะให้พรรคก้าวไกล หรือ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภาฯ และมีคำขู่ถึงขั้นว่า หากพรรคก้าวไกลยังดึงดันอีก และพรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาลด้วย ก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้

รังสิมันต์ ยัน ก้าวไกล ต้องได้เก้าอี้ประธานสภาฯ
ขณะที่ คุณรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ก็ยืนยัน ไม่ยอมให้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น อ้างถึงธรรมเนียมปฏิบัติในอดีต หากไม่นับรวมเมื่อปี 2562 พบว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 จะได้โควตาตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อผลักดันกฎหมายต่าง ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น พรรคก้าวไกล ยังออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ให้เหตุผล 3 ข้อ ที่จำเป็นต้องได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร อ้างสามวาระที่ต้องผลักดัน คือ การผลักดันกฎหมายก้าวหน้า 45 ฉบับ ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างราบรื่น และการผลักดันหลักการ รัฐสภาโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยย้ำว่า พรรคก้าวไกล ต้องการให้ผู้แทนราษฎรของเราดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่เราต้องการอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐสภาไทยให้สามารถออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และเป็นรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง

มาดูบทบาทของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรกันว่า มีอำนาจหน้าที่อย่างไร ทำไม 2 พรรคใหญ่ จึงแย่งกันนัก บทบาทสำคัญที่ทำให้ทั้ง ก้าวไกล และ เพื่อไทย ไม่ยอมถอย ต้องได้เก้าอี้นี้ น่าจะอยู่ที่ 3 ประเด็นหลัก คือ ประธานสภาฯ มีหน้าที่นำชื่อนายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ หลังรัฐสภาลงมติ บรรจุวาระประชุมและคุมเกมในสภาฯ ซึ่ง 2 ประเด็นหลังนี้ ทางก้าวไกลกังวลมากว่า ถ้าคุมเกมเองไม่ได้ วาระที่ต้องการผลักดันเพื่อแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 112 และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองอาจจะกลายเป็นหมัน ส่วนเรื่องการนำชื่อนายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ดูเหมือนก้าวไกลจะไม่กังวลมากนัก เพราะเห็นว่าหากผ่านด่าน สว. ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาเกิน 376 เสียงแล้ว ไม่น่าจะมีใครกล้าเสนอชื่ออื่น

ย้อนตำนาน แต่งชุดขาวรอเก้อ อานันท์ ผงาด นั่งนายกฯ
ในยุคนี้หลังการเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าไม่ว่าใครเป็นประธานสภาฯ ก็ไม่น่าจะกล้าเสนอชื่ออื่น ที่ไม่ได้เป็นไปตามมติของที่ประชุมรัฐสภา แต่ถ้าย้อนไปในปี 2535 มีตำนาน พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย แต่งชุดขาวรอเก้อ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลัง พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากเหตุพฤษภาทมิฬ คนที่คิดว่าจะเป็นทายาทรับตำแหน่งนายกฯ ต่อ ก็คือ พลอากาศเอก สมบุญ แต่กลับกลายเป็นว่า คุณอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาฯ ในขณะนั้น เสนอชื่อ คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

อ.เจษฎ์ ชี้ เพื่อไทย อำนาจต่อรองสูงกว่า ก้าวไกล
ซึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าว นักวิชาการเชื่อว่าจะไม่เกิดซ้ำรอยในยุคนี้ เพราะในครั้งนั้น ไม่ได้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา แต่คราวนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องผ่านมติจากที่ประชุมรัฐสภาก่อน ขณะเดียวกัน ก็มองว่าโอกาสที่ตำแหน่งสำคัญนี้จะไปตกอยู่ในมือของเพื่อไทย มีมากกว่าก้าวไกล เพราะอะไร ไปฟังการวิเคราะห์จาก อาจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก

ถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ของ อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เราจะได้เห็นบทสรุปว่า ใครจะได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 กรกฎาคม ใครจะได้ตำแหน่งนี้ไป อีก 2 เดือน รู้กัน