บอร์ด รฟท. เคาะกู้เงิน 1.8 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องปี 67 จ่อชงครม.เห็นชอบ หลังคาดการณ์รายรับ-รายจ่ายติดลบ ลุยฟื้นฟูกิจการ-หารายได้เพิ่ม ล้างหนี้ 2 แสนล้าน
วันนี้ (25 พ.ค.66) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ได้เห็นชอบการขออนุมัติกู้เงิน เพื่อใช้ดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย) และเสริมสภาพคล่อง ของ รฟท. ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 18,000 ล้านบาท หลังจากนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาถึงความเหมาะสม เนื่องจากอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงต้องพิจารณาด้วยว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้หรือไม่
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า จากการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดประจำปีงบประมาณ 2567 พบว่า ผลการดำเนินงานขาดกระแสเงินสดประมาณ 18,000 ล้านบาท รฟท. จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ส่วนจะกู้จากแหล่งเงินใดนั้น ต้องให้ ครม. เห็นชอบก่อน และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) จะเป็นผู้ให้ความเห็นว่าแหล่งเงินกู้ใดเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รฟท. ขออนุมัติจัดสรรเงินกู้เช่นนี้ทุกปี ในวงเงินใกล้เคียงกับที่เสนอขอในปี 2567 เพื่อนำเงินไปชดเชยภาระทางการเงินที่มีหนี้สะสมอยู่ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ รฟท. ซึ่งยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ และพยายามหารายได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อหยุดเลือดให้ได้
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน รฟท. มีภาระหนี้สะสมอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ยอมรับว่าการดำเนินกิจการในช่วงที่ผ่านมา รฟท. มีภาระอัตราดอกเบี้ยจากเงินต้นที่กู้ยืมมาก่อนหน้านี้ ซึ่งตามกฎของกระทรวงการคลัง ห้ามกู้เงินมาจ่ายดอกเบี้ย ทำให้ รฟท. ต้องนำรายได้ที่บริหารกิจการมาแต่ละปี ไปชดเชยดอกเบี้ย และภาระทางการเงินต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมการดำเนินงานของ รฟท. ยังมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ
ทั้งนี้ จากข้อมูลประมาณการกระแสเงินสดในปีงบประมาณ 2567 คาดการณ์รายรับรวม 10,661 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการโดยสาร 2,957 ล้านบาท รายได้การขนส่งสินค้า 2,467 ล้านบาท รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 327 ล้านบาท รายได้จากการบริหารทรัพย์สิน 3,736 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมการดำเนินงาน ICD ลาดกระบัง 499 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร 169 ล้านบาท และรายได้จาการดำเนินงานอื่นๆ 503 ล้านบาท
ขณะที่รายจ่ายครบกำหนดชำระคือ การชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายเงินกู้ 5,436 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินกิจการอีก 24,195 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายบำรุงทางอาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง 3,515 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง 1,111 ล้านบาท (รายได้ 327 ล้านบาท ขาดทุน 784 ล้านบาท) อาทิ ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา 500 ล้าน ที่เหลือเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ(สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์+สถานีอื่นๆ รวม 23 สถานีของสายสีแดง 400 ล้าน อีกกว่า 100 ล้าน เป็นค่าทำความสะอาด ค่ารักษาความปลอดภัย และค่าบริหารอาคารฯ ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารถจักร และล้อเลื่อน 3,824 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการเดินรถขนส่ง 9,343 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 1,005 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญอีก 5,397 ล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ติดลบอยู่ที่ 18,970 ล้านบาท.