สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดปัตตานี และสงขลา

View icon 363
วันที่ 26 พ.ค. 2566 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
วานนี้ เวลา 17.05 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปยังชั้น 8 บริเวณลานอาคารพรีคลินิก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีพื้นที่สำหรับดูดาว หันไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรการสังเกตการณ์ท้องฟ้า และดาวต่าง ๆ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ อาทิ ดาวอาจิบา (Algieba) หรือ ระบบดาวคู่ อยู่ในกลุ่มดาวสิงโต อยู่ห่างจากโลก 130 ปีแสง ซึ่ง 1 ปีแสง เท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางในเวลา 1 ปี หรือประมาณ 9.4 ล้านล้านกิโลเมตร จะเห็นเป็นสีส้ม-เหลือง, กระจุกดาว M44 หรือ กระจุกดาวรวงผึ้ง อยู่ในกลุ่มดาวปู อยู่ห่างจากโลก 580 ปีแสง และกระจุกดาว M3 อยู่ในกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อ อยู่ห่างจากโลก 34,000 ปีแสง มีขนาดใหญ่ และสว่างมากบนท้องฟ้า พื้นที่ลานดูดาวนี้ ยังใช้จัดกิจกรรมดูดาวประจำเดือน ใช้สังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และจันทร์เสี้ยว สำหรับกำหนดการเข้าเดือนใหม่ในปฏิทินฮิจเราะห์ หรือปฏิทินอิสลามด้วย

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังชั้น 2 ทอดพระเนตรกิจกรรมภายในศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ ด้านดาราศาสตร์และอวกาศ สำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ เปิดดำเนินการเมื่อปี 2562 มีกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.7 เมตร ตัวกล้องตั้งอยู่ที่หอดูดาว สปริง บรู๊ค (Spring Brook) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีระบบที่สามารถควบคุมการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าระยะไกล

ภายในมีโดมท้องฟ้าจำลอง ที่ใช้สอบแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระหว่างประเทศครั้งที่ 11 จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2560 ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งใช้โดมฯ นี้ สำหรับสอบภาคสังเกตการณ์ภาคกลางวัน ปัจจุบันใช้เป็นห้องปฏิบัติการทางดาราศาสตร์ให้กับผู้ที่สนใจ

และที่ห้องแสดงจักรวาลจำลองแบบโต้ตอบได้ เพื่อการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ จำลองการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าจากดวงจันทร์ ผ่านระบบแสง สี เสียง ทำให้ผู้ชมเข้าใจกลุ่มดาวลักษณะต่าง ๆ และสามารถจำแนกความแตกต่างของกลุ่มดาวได้ ซึ่งจัดแสดงไว้ 61 กลุ่มดาว อาทิ กลุ่มดาวนายพราน, กลุ่มดาวแมงป่อง และกลุ่มดาวหมีเล็ก

ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับดาราศาสตร์อย่างมาก โดยชาวมุสลิมต้องละหมาดวันละ 5 เวลา ซึ่งเวลาละหมาด ถูกกำหนดด้วยตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ส่วนการกำหนดปฏิทินของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมอาศัยปรากฏการณ์ดวงจันทร์ และการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ กำหนดวันเริ่มต้นของเดือน ตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งได้ใช้โดมท้องฟ้าจำลองนี้ ถ่ายทอดความรู้ด้านดาราศาสตร์ และปฏิบัติศาสนกิจของชาวไทยมุสลิม ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย

เวลา 09.51 น. วันนี้ เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทรงเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 ซึ่งศูนย์โอลิมปิกวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-31 พฤษภาคม 2566 ที่โรงแรมหรรษา เจบี และโรงแรมบีพี แกรนด์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันประสูติ 6 พฤษภาคม 2566 และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี 2565-2566 ตลอดจนเป็นการคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย เป็นผู้แทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระหว่างประเทศในปี 2566 อีกทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถด้านปัญญาและพัฒนาศักยภาพของตนให้สูงขึ้น เป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาดาราศาสตร์ของนักเรียนและนักวิชาการที่จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร ระบบการเรียนการสอน และการวิจัยที่จะพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ

โดยมีนักเรียนจากศูนย์ สอวน. สาขาวิชาดาราศาสตร์ 12 ศูนย์ทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 66 คน ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 62 คน รวมทั้งมีอาจารย์ผู้ควบคุมทีม 32 คน และครูสังเกตการณ์ 18 คน มีการสอบในช่วงเวลากลางวัน ประกอบด้วย การสอบภาคทฤษฎี การสอบภาควิเคราะห์ข้อมูล การสอบภาคสังเกตการณ์ และการสอบดูดาวจริงบนท้องฟ้าในช่วงเวลากลางคืน

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันฯ และทอดพระเนตรนิทรรศการครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และในโอกาสที่องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จัดแสดงพระกรณียกิจ อาทิ พระกรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง