ปักหมุดของดีทั่วไทย : เลี้ยงควายชายทุ่ง ลุ่มรับน้ำสายบุรี จ.ปัตตานี

View icon 24
วันที่ 1 มิ.ย. 2566 | 07.36 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ไปดูแหล่งเลี้ยงควาย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใหญ่ที่สุด ที่เลี้ยงรวมกันกว่า 700 ตัว และเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ จนเป็นที่ท่องเที่ยวของชุมชน และเป็นอาชีพที่เลี้ยงส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ติดตามจากคุณอรรถพา ดวงจินดา

เป็นภาพของฝูงควายกว่า 700 ตัว ที่กำลังหากินและเล่นน้ำในทุ่งเพื่อคลายร้อน ที่นับว่าเป็นควายฝูงใหญ่ที่สุดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่แก้มลิงรับน้ำใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำสายบุรี บนเนื้อที่กว้าง 15,000 ไร่ ที่เรียกกัน "พรุลานควาย" หรือชื่อที่ชาวบ้านเรียก คูวา คูโว๊ะ ในอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี อีกทั้งยังเสมือนเป็น หม้อข้าวหม้อแกง ให้คนในพื้นที่ในหลากหลายอาชีพ

วันนี้ปักหมุดของดีทั่วไทย พามาเที่ยวชม มาดูวิถีชีวิต และการร่วมกันอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงอย่างควาย ใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันจากรุ่นสู่รุ่น และที่สำคัญควายเหล่านี้ ยังกลายเป็นพระเอกให้กับท้องทุ่ง รอต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นพระเอกนั่นเอง

ควายที่นี้แม้จะไม่เข้าใกล้คนมากนัก ซึ่งตอนกลางวัน เขาหากินกันเป็นฝูง แล้วกลับเข้าคอกในตอนเย็น แต่เชื่อไหมว่า ควายแต่ละตัว เขาจะกลับเข้าคอกใครคอกมัน ซึ่งเจ้าของไม่ต้องตามหาให้วุ่นวาย และที่สำคัญไม่มีปัญหาสัตว์เลี้ยงหายเกิดขึ้นในพื้นที่เลย

การเลี้ยงควายของชาวบ้านที่นี่ แม้จะลดลงจากอดีต ที่เคยมีมากกว่า 20,000 ตัว ด้วยสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงการเลี้ยงแบบดั้งเดิม คือเช้าไปเปิดคอก ปล่อยให้ควายไปหากินกันเองตามธรรมชาติ แล้วค่อยมาไล่ต้อนกลับเข้าคอกในตอนเย็น โดยที่เจ้าของไม่ต้องใช้แรง หรือวุ่นวายกับควายเหล่านี้อะไรมากเท่าไหร่

สิ่งที่น่าสนใจของป่าพรุกว้างใหญ่แห่งนี้ นอกจากฝูงควายและสัตว์เลี้ยงกลางทุ่ง คือการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันของชาวบ้านกว่า 20 ชุมชน โดยไม่มีการทะเลาะหรือแย่งชิงทรัพยากรณ์ในพื้นที่ ด้วยมีการตั้งกฎชุมชน ที่เรียกกันว่า "ฮูกมปากัต" ซึ่งถือเป็นธรรมนูญชุมชนร่วมกัน ทำให้ทั้งแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เกษตรกร ปศุสัตว์ เขตห้ามล่าสัตว์ และเขตประมง ถูกแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน

พรุลานควาย นอกจากจะเป็นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านแล้ว ยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ยังเป็นตัวอย่างของวิถีชีวิตคนพื้นที่ ทั้งไทยพุทธ-มุสลิม ที่อาศัย และใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันอย่างลงตัวมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนั่นเอง