นักลงทุน เลื่อนแผนการลงทุนแล้ว รอความชัดเจนนโยบายค่าแรง หนุนการลงทุน หากขึ้นค่าแรงก้าวกระโดด พร้อมย้ายไปลงทุนประเทศอื่น หันมาใช้เทคโนโลยีแทนคนมากขึ้น
วันนี้ (2 มิ.ย.66) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเฉพาะกิจเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ “ผลกระทบของการเลือกตั้งและการเมืองต่อการลงทุนของภาคธุรกิจในปี 2566” พบว่า การเลือกตั้งและการเมืองส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจน้อย โดยธุรกิจส่วนใหญ่ทั้งในภาคการผลิต และภาคที่มิใช่การผลิต ยังคงลงทุนตามแผนเดิม ซึ่งผู้ประกอบการจะพิจารณาปัจจัยพื้นฐานก่อน เช่น กำลังซื้อ การแข่งขัน และแหล่งเงินทุน
อย่างไรก็ตาม มีธุรกิจส่วนหนึ่งเลื่อนแผนการลงทุน อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการค้า และธุรกิจผลิตเคมีภัณฑ์ เพื่อรอความชัดเจนของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน และค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ธุรกิจบางส่วนจะหันไปลงทุนใน Automation หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานแทนคน เพื่อลดจำนวนแรงงานลง หรืออาจชะลอการลงทุนในไทย แต่ไปเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าแทน
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า การส่งออกใน ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 โดยรวมมีแนวโน้มทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยมีหลายธุรกิจประเมินว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน อาทิ ธุรกิจผลิตเคมี ปิโตรเลียม และยางและพลาสติก ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ส่วนใหญ่จะ่ขยายตัวเพียงเล็กน้อยไม่เกินร้อยละ 10 ตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น และปัญหาข ดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ทยอยคลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม หลายธุรกิจคาดว่าการส่งออกในไตรมาส ที่ 2 ปีนี้ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เช่น ภาคการค้าและธุรกิจผลิตยานยนต์
ระยะเวลาการให้เครดิตของธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19โดยธุรกิจส่วนใหญ่ให้ระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ(Credit term) แก่คู่ค้าเฉลี่ยที่ 16-45 วัน ขณะที่กว่าครึ่งของธุรกิจผลิตอาหารให้ Credit term มากกว่า 45 วันซึ่งนานกว่าธุรกิจการผลิตอื่น ๆ นอกจากนี้ ธุรกิจบางส่วนในกลุ่มบริการที่
ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะไม่มีการให้ Credit term แก่คู่ค้า