หมอมนูญ เผยเคสผู้ป่วยสูงอายุติดโควิด ไอแรง กินข้าวไม่ได้ ตรวจพบเส้นเลือดเล็กที่โป่งพองแตกกลายเป็นก้อนเลือด บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้นจนอุดตัน เสี่ยงเสียชีวิตได้
วันนี้ (5 มิ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อโควิด ไอแรง กินอาหารไม่ได้ สแกนพบเส้นเลือดเล็กโป่งพองแตก ไหลรวมเป็นก้อนเลือดในช่องท้อง ไปบีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น จนลำไส้เล็กส่วนต้นอุดตัน กินอาหารไม่ได้ เสี่ยงเสียชีวิต โดยระบุว่า ผู้ป่วยหญิง อายุ 75 ปี ปกติแข็งแรงดี ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม โมเดอร์นา 2 เข็ม มีไข้ แสบคอ ไอมาก วันที่ 1 พ.ค.66 ตรวจ ATK ให้ผลบวก วินิจฉัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 วัน หลังกินยาครบยังไอมาก ไอแรง ไอจนปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ทะลุไปด้านหลัง กินอาหารไม่ได้ อาเจียนอาหารที่กินออกมาหมด
เข้านอนในโรงพยาบาลวันที่ 5 พ.ค. ตรวจเลือดพบเลือดจางระดับฮีโมโกลบินต่ำ 10.2 เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ เท่ากับเลือดหายไป 3 ถุง ส่องกล้องพบลำไส้เล็กส่วนต้นที่ต่อกับกระเพาะอาหารตีบตันจากมีอะไรข้างนอกมาบีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น
ทำคอมพิวเตอร์สแกนช่องท้อง พบก้อนเลือดขนาด 3.9 x 8.3 x 8.6 เซนติเมตร บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น ทำหัตถการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดพบ เส้นเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงตับอ่อน-ลำไส้เล็กส่วนต้นล่าง (inferior pancreaticoduodenal artery) โป่งพองขนาด 0.5 เซนติเมตร และเส้นเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงตับอ่อน-ลำไส้เล็กส่วนต้นบน (superior pancreaticoduodenal artery) โป่งพองขนาด 0.2 เซนติเมตร และรั่วทั้ง 2 ตำแหน่ง ใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปถึงบริเวณเส้นเลือดที่โป่งพองแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดและฉีดสารอุดหลอดเลือดที่โป่งพองด้วยกาวและน้ำมัน
หลังทำหัตถการผู้ป่วยอาการค่อยๆ ดีขึ้น ต้องใช้เวลา 14 วันกว่าผู้ป่วยจะกลับมากินอาหารเหลวได้ ระหว่างที่อดอาหาร ให้สารอาหารทางเส้นเลือด และต่อสายระบายน้ำในกระเพาะอาหารลงขวดนาน 14 วัน วันที่ 3 มิ.ย.ตรวจกระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้ง ไม่พบการอุดตันของลำไส้เล็กส่วนต้นอีกแล้ว
ผู้ป่วยรายนี้มีเส้นเลือดเล็กโป่งพองในช่องท้องอยู่แล้ว ระหว่างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไอแรงมากจนกระเทือนช่องท้อง เส้นเลือดเล็กที่โป่งพองในช่องท้องแตก ทำให้เลือดจางจากการเสียเลือด เลือดไหลออกในช่องท้องรวมตัวเป็นก้อนเลือด บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้นจนลำไส้เล็กส่วนต้นอุดตัน กินอาหารอาเจียนออกหมด โรคนี้พบน้อยมากๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโอกาสเสียชีวิตสูง