กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะอุบัติเหตุทางถนนในเด็ก...อันตรายที่ป้องกันได้
.
วันนี้ (17 มิ.ย.66) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในเด็ก หลังอุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในเด็ก โดยเมื่อประสบอุบัติเหตุเด็กมีโอกาสได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าผู้ใหญ่ โดยปัจจัยเสี่ยงบาดเจ็บรุนแรง เสียชีวิตจากอุบัติเหตุของเด็ก เนื่องจากสภาพร่างกายอยู่ในช่วงเติบโต โดยมีศีรษะใหญ่กว่าลำตัว กระดูกต้นคอและกล้ามเนื้อต้นคอไม่แข็งแรง เมื่อประสบอุบัติเหตุ จึงเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบริเวณกระดูกต้นคอ อวัยวะภายในมีขนาดไม่สมดุล กับกระดูก ทรวงอก ซี่โครง ช่องอก และช่องท้อง เมื่อประสบอุบัติเหตุ อาจทำให้อวัยวะภายในฉีกขาดได้
.
ข้อควรปฏิบัติพาเด็กเดินเท้า – ข้ามถนน
- จูงมือเด็กให้แน่น โดยให้เด็กเดินบนทางเท้าในลักษณะเดินเรียงเดี่ยวสวนทางกับรถที่วิ่งมา
- พาเด็กข้ามถนนในบริเวณที่ปลอดภัย อาทิ ทางม้าลาย สะพานลอย บริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจรสำหรับคนข้าม หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวก
- พาเด็กรอข้ามถนนบนทางเท้า โดยมองให้รอบด้าน เมื่อรถจอดสนิทหรืออยู่ในระยะไกล จึงพาเด็กข้ามถนน พร้อมระวังรถที่อาจขับแซงขึ้นมา
.
ข้อห้ามพาเด็กเดินเท้า – ข้ามถนน
- ไม่ให้เด็กข้ามถนนตามลำพัง เพราะเด็กไม่สามารถกะระยะห่างที่ปลอดภัยระหว่างตัวเองกับรถที่วิ่งมา
- ไม่พาเด็กวิ่งตัดหน้ารถ เพราะหากเด็กสะดุดหกล้ม อาจถูกรถชนได้
- ไม่พาเด็กข้ามถนนบริเวณที่มีสิ่งบดบัง อาทิ บริเวณที่มีรถขนาดใหญ่จอดอยู่ ปากซอยที่มีรถจอดขวาง เพราะอาจถูกรถชนได้
- ไม่ให้เด็กเล่นบริเวณริมถนน เพราะเสี่ยงต่อการถูกรถเฉี่ยวชน
.
นำเด็กโดยสารรถยนต์ปลอดภัย
- ให้เด็กนั่งที่นั่งนิรภัยที่เหมาะสมกับวัย รูปร่าง น้ำหนัก และส่วนสูง โดยยึดติดที่นั่งนิรภัยไว้บริเวณเบาะหลัง
- คาดเข็มขัดนิรภัยของที่นั่งนิรภัยให้กระชับลำตัวเด็ก จะช่วยยึดลำตัวเด็กไม่ให้สะบัด และป้องกันกระดูกต้นคอหัก
- กรณีไม่มีที่นั่งนิรภัย ให้เด็กนั่งเบาะหลังรถค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ควรให้เด็กนั่งซ้อนตักหรือนั่งเบาะหน้า เพราะ
หากเกิดอุบัติเหตุ จะได้รับอันตรายเพิ่มขึ้น
- ให้เด็กนั่งเบาะรถยนต์ เมื่อมีรูปร่างและความสูงเพียงพอที่นั่งตัวตรง หลังพิงพนักเบาะ โดยสามารถคาดเข็มขัดนิรภัย
พาดผ่านบ่า หน้าอก และกระดูกเชิงกราน
.
นำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์ด้วยความระวัง
- กรณีนำเด็กเล็กโดยสารรถจักรยานยนต์ ให้ใช้ถุงเป้หรือถุงจิงโจ้ที่สามารถรองรับน้ำหนักเด็กได้อย่างปลอดภัย พร้อมใช้มือประคองลำตัวเด็ก เพื่อป้องกันเด็กพลัดตก
- กรณีใช้ผ้าห่อตัวเด็ก ให้เก็บชายผ้าให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันชายผ้าเกี่ยวกับซี่ล้อหรือโซ่รถ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- กรณีนำเด็กโตโดยสารรถจักรยานยนต์ ให้สวมหมวกนิรภัยที่ขนาดพอดีกับศีรษะ และคาดสายรัดคางให้กระชับ
เพื่อป้องกันหมวกนิรภัยหลุดออกจากศีรษะเมื่อประสบอุบัติเหตุ