ถังดับเพลิงมีกี่ชนิด กี่สี ใช้ดับไฟชนิดใดได้บ้าง เลือกใช้อย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม
การติดตั้งถังดับเพลิง หรือเครื่องดับเพลิงชนิดมือถือ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดความเสียหาย รวมไปถึงการสูญเสียของทรัพย์สินที่เกิดจากเพลิงไหม้ โดยทุกอาคาร บ้านพัก ที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีถังดับเพลิงติดตั้งเพื่อความปลอดภัย และตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
ประเภทของถังดับเพลิง
ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
ใช้ดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ติดไฟยาก เมื่อฉีดพ่นออกมาจะมีลักษณะเป็นฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย จึงเป็นอุปสรรคต่อการดับเพลิง รวมถึงก่อให้เกิดคราบสกปรก
ถังดับเพลิงชนิดเคมีสูตรน้ำ
ใช้ดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงทั่วไป ของเหลวติดไฟ ก๊าซ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และน้ำมันที่ติดไฟยาก เหมาะสำหรับควบคุมเพลิงในห้องครัว เนื่องจากสามารถดับไฟที่เกิดจากน้ำมันประกอบอาหารได้
ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย
เหมาะสำหรับควมคุมเพลิงไหม้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ห้องไฟฟ้า ห้องเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้สำนักงาน เนื่องจากไม่ทำให้เกิดคราบสกปรก
ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เหมาะสำหรับควบคุมเพลิงไหม้สถานีบริการน้ำมัน ก๊าซที่ฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัดคล้ายน้ำแข็งแห้ง จึงช่วยลดความร้อนของไฟ รวมถึงไม่ทำให้เกิดคราบสกปรก แต่ไม่เหมาะสำหรับนำไปใช้ในบริเวณที่ไม่มีอากาศถ่ายเท เพราะอาจทำให้ขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิต
ถังดับเพลิงชนิดโฟม
เหมาะสำหรับดับเพลิงในภาคอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงประเภททินเนอร์และสารระเหยติดไฟ เมื่อฉีดพ่นออกมาจะมีลักษณะเป็นฟองโฟมปกคลุมเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ แต่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ หากนำไปดับเพลิงที่เกิดกับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า จะทำให้ผู้ใช้ถูกไฟฟ้าดูดได้
การเลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับประเภอเชื้อเพลิงจะทำให้สามารถควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามและขยายวงกว้างแต่หากใช้ถังดับเพลิงที่ควบคุมไฟผิดประเภท นอกจากจะไม่สามารถระงับเหตุเพลิงไหม้ได้แล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานอีกด้วย
การแบ่งประเภทของไฟ
โดยทั่วไปแบ่งชนิดของไฟตามลักษณะและปฏิกิริยาในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงตามมาตรฐานของสมาคมป้องกันอัคคีภัยของสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association : NFPA)
ไฟประเภท A (Class “A”) เป็นการเผาไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดาโดยทั่วไป เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า พลาสติก ฯลฯ เชื้อเพลิงเหล่านี้มีลักษณะ และปฏิกิริยาในการเผาไหม้ โดยการคายไอออกมาตามผิวโดยที่เนื้อแท้ของเชื้อเพลิงยังไม่แปรสภาพเป็นของเหลว
ไฟประเภท B (Class “B”) เป็นการเผาไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นสารไอโดรคาร์บอนทุกชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซหุงต้ม (LPG) น้ำมันที่ใช้กับรถยนต์ยางมะตอย พาราฟิน ตัวทำลายต่าง ๆ เป็นต้น โดยที่มีลักษณะของการลุกไหม้โดยเป็นก๊าซหรือของเหลวที่ขับไอออกมา ถ้าเป็นลักษณะแข็งตัวก็จะหลอมเหลวแล้วคายไอออกมา
ไฟประเภท C (Class “C”) เป็นการเผาไหม้ที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากอาร์คสปาร์ค การใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง เมื่อเกิดการเผาไหม้ยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในอุปกรณ์ไฟฟ้านั้น โดยกระแสไฟฟ้ายังไม่ได้ถูกตัดออก แต่ถ้าหากตัดกระแสไฟฟ้าออกแล้วสิ่งเหล่านี้ก็คือ เชื้อเพลิง “A” “B” หรือ “D” นั่นเอง
ไฟประเภท D (Class “D”) เป็นการเผาไหม้ที่เกิดจากพวกโลหะที่ลุกไหม้และให้ความร้อนสูง พวกวัตถุระเบิด พวกที่ทำปฏิกิริยากับน้ำได้ เช่น แมกนีเซียม (Magnesium) , โซเดียม (Sodium) , ไทเทเนียม (Titanium) , โปรแตสเซียม (Potassium) เป็นต้น ลักษณะการลุกไหม้ของประเภท “D” นี้จะให้ความร้อนสูงมากทำให้เกิดการลุกลามอย่างรวดเร็วบางครั้งเกิดการระเบิดขึ้นและเชื้อเพลิงบางชนิดทำปฏิกิริยากับน้ำ เช่น โซเดียม ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่ไวไฟ
ไฟประเภท K (Class “K”) เป็นการเผาไหม้ที่เกิดจาก คราบน้ำมันหมู น้ำมันพืชหรือในปล่องระบายควันในห้องครัว
ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย