พบงานวิจัยใหม่อายุของจักรวาลไม่ใช่ 1.37 หมื่นล้านปีแต่เป็น 2.67 หมื่นล้านปี

พบงานวิจัยใหม่อายุของจักรวาลไม่ใช่ 1.37 หมื่นล้านปีแต่เป็น 2.67 หมื่นล้านปี

View icon 200
วันที่ 13 ก.ค. 2566 | 16.30 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
นักวิทยาศาสตร์ งุนงงพบข้อมูลดาราศาสตร์ใหม่ จึงได้พัฒนาแบบจำลองใหม่พบอายุจักรวาลไม่ใช่ 1.37 หมื่นล้านปี แต่เป็น 2.67 หมื่นล้านปี

วันนี้ (13 ก.ค.66)  สมาคมดาราศาสตร์ไทย รายงานข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ งานวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับจักรวาล  โดยระบุว่าอายุของจักรวาลควรเป็น 2.67 หมื่นล้านปี ไม่ใช่ 1.37 หมื่นล้านปี หรืออาจจะมีอายุมากกว่าที่เคยประมาณไว้ในปัจจุบันถึงสองเท่า

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ใช้การคำนวณอายุของจักรวาลโดยการวัดเวลาที่ผ่านไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากการเกิดบิกแบง โดยใช้การศึกษาดาวฤกษ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ตรวจพบ จากการเลื่อนแถบสีแดงของแสงที่มาจากกาแล็กซีอันไกลโพ้น ทำให้อายุของจักรวาลของเราถูกประมาณไว้ที่ 13.797 พันล้านปีตามแบบจำลองความสอดคล้องของแลมบ์ดา-ซีดีเอ็ม (ΛCDM)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนรู้สึกงุนงง ก็คือ การมีอยู่ของดาวฤกษ์อย่างเมธูเซลาห์ (Methuselah) ที่ดูเหมือนจะมีอายุมากกว่าอายุของจักรวาลของเรา

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการค้นพบกาแลคซีในยุคเริ่มแรกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ระบุว่ากาแล็กซีเหล่านี้มีอายุเพียง 300 ล้านปีหลังเกิดเหตุการณ์บิกแบงเท่านั้น แต่กลับมีระดับความสมบูรณ์ของการวิวัฒนาการเทียบเท่ากับกาแล็กซีที่มีอายุนับหลายพันล้านปีตามแบบจำลองจักรวาลวิทยา (ΛCDM) สิ่งนี้สร้างความขัดแย้งมาก

งานวิจัยใหม่นี้ จึงได้พัฒนาแบบจำลองใหม่ซึ่งทำให้เกิดการขยายเวลาการก่อตัวของกาแลคซีออกไปอีกหลายพันล้านปี ทำให้จักรวาลของเรามีอายุ 26.7 พันล้านปี และไม่ใช่ 13.7 พันล้านปี ตามที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้

Rajendra Gupta ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออตตาวา ระบุว่า เราได้พัฒนาโมเดลไฮบริด CCC + TL (CCC : Covarying coupling constants , TL : Tired light) ที่มีแนวคิดเรื่องแสงที่อ่อนล้า (Tired light) ในจักรวาลที่กำลังขยายตัว [แนวคิดแสงที่อ่อนล้า (Tired light) คือ การอธิบายว่าการเลื่อนแถบสีแดงของแสงจากกาแล็กซีอันไกลโพ้นเกิดจากการสูญเสียพลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปของโฟตอนในระยะทางที่ห่างไกลของจักรวาล]

เราพบว่าโมเดลไฮบริด CCC + TL มีความสอดคล้องกับข้อมูลจากการสังเกตของ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ มันช่วยยืดอายุของจักรวาลออกไปอีก 26.7 พันล้านปี สิ่งนี้ให้เวลาที่มากพอที่จักรวาลจะก่อตัวเป็นกาแล็กซีขนาดใหญ่ได้

เราจึงสามารถแก้ปัญหา 'กาแลคซีในยุคแรกเริ่มที่เป็นไปไม่ได้' ได้ เราจึงไม่ต้องมีเมล็ดพันธุ์พลังงานสูง เช่น หลุมดำ ในยุคแรกเริ่มหรือสเปกตรัมพลังงานสูงรูปแบบอื่น ที่ทำให้เกิดการก่อตัวอย่างรวดเร็วของดาวฤกษ์มวลมาก

ดังนั้น เราจึงสามารถอนุมานได้ว่าแบบจำลอง CCC + TL ควรถูกนำมาขยายเป็นส่วนเสริมให้กับแบบจำลองจักรวาล (ΛCDM) ด้วยค่าคงที่จักรวาลวิทยา (Λ) แบบไดนามิก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง