เกาะล้านน้ำทะเลเป็นสีเขียว เกิดจากแพลงก์ตอนบลูมบุก เป็นเฉพาะหาดตาแหวน และ หาดตายาย หาดอื่นน้ำใสปกติ นทท.ยังเที่ยวคึกครื้น ด้าน อ.ธรณ์ห่วง ชี้ ทะเลไทยกำลังผิดปกติ
ทะเลเกาะล้านกลายเป็นสีเขียว ช่วงหยุดยาว 6 วัน หลายคนแพลนออกไปเที่ยว 1 ในสถานที่สุดฮิตนั่นก็คือเกาะล้าน แต่วานนี้ (29 ก.ค.2566) ในโลกโซเชียล มีการแชร์ภาพน้ำทะเลที่เกาะล้าน ที่กลายเป็นสีเขียว ระบุข้อความว่า แพลงตอนบูมหรือขี้ปลาวาฬ บุกทะเลเกาะล้าน กลายเป็น สีเขียว ไปแล้ว แพลงตอนเที่ยวทะเลวันหยุด อวสานทริปวันหยุด
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่หาดตาแหวนเกาะล้าน พัทยา พบยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้ามายังเกาะล้าน และยังคงมีนักท่องเที่ยวเล่นน้ำทะเลปกติ
นายสรศักดิ์ ทองบงเพชร เลขานุการประธานชุมชนเกาะล้าน กล่าวว่า น้ำทะเลเกาะล้านสีเขียว เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ในหนึ่งปี จะเกิดขึ้น 2-3 วัน ช่วงต้นฤดูฝน อาจทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียว เพราะมีน้ำจืดไหลลงทะเล เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี บริเวณหาดตาแหวน และ หาดตายาย เป็นหาดที่มีปากคลองที่มีน้ำจืดไหลลงมา ส่วนหาดอื่น ๆ เช่น หาดนวล หาดเทียน หาดแสม ไม่ได้รับผลกระทบ น้ำใสปกติ จึงอยากให้นักท่องเที่ยว ไม่ต้องตกใจเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติ สามารถมาเที่ยวได้ตามปกติ ไม่มีอันตราย
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องน้ำทะเลสีเขียวว่า แพลงก์ตอนบลูมที่เกาะล้าน ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว เคยพูดเรื่องนี้หลายครั้งว่า ทะเลกำลังผิดปกติ โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนใน EEC
ขยายความเพิ่มขึ้นกับเหตุการณ์ที่กำลังปรากฏ แพลงก์ตอนบลูมเป็นเรื่องธรรมชาติ เกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝน (ธาตุอาหาร) แสงแดด ทิศทางลม/กระแสน้ำ และปัจจัยอื่นๆ ในทะเล แต่ระยะหลังเริ่มปั่นป่วนเพิ่มขึ้นในทางที่แย่ลง เพราะมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้อง
เกี่ยวโดยตรง คือ ธาตุอาหารที่เพิ่มขึ้นจากหลายสาเหตุ การเกษตร น้ำทิ้ง ฯลฯ ไหลลงสู่ทะเล อ่าวไทยตอนในเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด น้ำวนอยู่นาน อิทธิพลจากแม่น้ำลำคลองมีเยอะ
เกี่ยวข้องทางอ้อม คือ โลกร้อน ตอนนี้แรงขึ้นจนอาจใช้คำว่า “โลกเดือด”
แล้วเกี่ยวกับเอลนีโญบ้างไหม ?
ปกติแล้วเอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อย น่าจะทำให้แพลงก์ตอนบลูมน้อย เมื่อเทียบกับปีลานีญา แต่ปีนี้มีข่าวน้ำเขียวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ EEC บางทีก็ศรีราชา พัทยา หรือแม้กระทั่งเกาะล้าน เอลนีโญในยุคก่อนๆ ไม่น่าเป็นแบบนี้ แต่เมื่อเอลนีโญเกิดในยุคโลกเดือด อะไรก็เป็นไปได้
แพลงก์ตอนบลูมเกิดในช่วงเวลาแปลก ๆ และพื้นที่ตามเกาะที่ในอดีตเราไม่ค่อยเจอ และส่งผลอย่างที่เราไม่คาดคิด ตัวอย่างง่ายๆ คือการท่องเที่ยว แม้ไม่ใช่แพลงก์ตอนพิษ แต่ใครจะอยากไปเล่นน้ำเขียวคัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ไปเจอก็เศร้าทั้งนั้น
ช่วงนี้การท่องเที่ยวเกาะล้านกำลังคึกคัก คนไปวันละหลายพัน เป็นแบบนี้คงไม่สนุก ปัญหาคือจะเกิดอีกไหม เกิดบ่อยไหม เกิดเมื่อไหร่ เราแก้ไขอย่างไรได้บ้าง โลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การรับมือทำได้ยาก และจะยิ่งยากหากเรามีข้อมูลไม่พอ เกิดทีไรก็แค่เก็บน้ำ จากนั้นก็บอกว่าเป็นแพลงก์ตอนชนิดไหน (ปกติก็มีอยู่กลุ่มเดียวที่ไม่เป็นพิษ) มันพอสำหรับสมัยก่อน แต่สำหรับโลกยุคนี้ เราต้องการข้อมูลที่มากกว่านี้มากๆ เพื่อการรับมือและปรับตัวกับปรากฏการณ์แปลกๆ ที่กำลังเกิด และจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะโลกร้อนขึ้น ไม่ได้จะหยุดร้อน ไม่ได้จะจบลงใน 5 ปี 10 ปี แต่ยังแรงขึ้นเรื่อยต่อเนื่องอีกอย่างน้อยหลายสิบปี
การช่วยชีวิตอ่าวไทยตอนใน/EEC มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจประเทศไทย หากเราไม่คิดพัฒนางานศึกษาวิจัย หากเราหยุดอยู่แค่วัดไข้ ขณะที่ทะเลอื่นในโลกเขาก้าวไกลไปถึงไหนๆ แล้ว การช่วยชีวิตอ่าวไทยก็ทำได้กระปริกระปรอย ถามมาตอบไป แพลงก์ตอนบลูมเกี่ยวกับเอลนีโญมั้ย ? ตอบไปแล้วไงล่ะ มันจะแรงขึ้น มันจะทำนายยากขึ้น มันจะส่งผลกระทบมากขึ้น อันนี้สิคือคำตอบที่แท้จริง และเรายังไม่อยู่ในสภาพที่สามารถแจ้งเตือน รับมือ และปรับตัวได้เพียงพอ เพราะนักวิทยาศาสตร์เจอแต่คำถาม แต่ความสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ยังมีน้อยไปมากๆ ทำให้คำตอบดูคลุมเครือ ไม่กล้าฟันธง และวนไปมา
อ.ธรณ์ บอกอีกว่า ผมมาญี่ปุ่น ผมเห็นหลายอย่างที่เขากำลังพยายามยกระดับรับมือเอลนีโญและโลกร้อน เห็นการศึกษาวิจัยที่ใช้เครื่องมือก้าวหน้า ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อความเข้าใจที่ถ่องแท้ เพื่อระบบแจ้งเตือนที่ดี และเพื่อการปรับตัวที่ทันการณ์ แพลงก์ตอนบลูมเกี่ยวข้องกับเอลนีโญไหม ? คำถามที่แท้จริงควรเป็นว่า เราพร้อมช่วยชีวิตอ่าวไทยในยุคทะเลเดือดไหม ?