โกดังประทัดระเบิด มูโนะ ชีวิตแลกด้วย ส่วย จ.นราธิวาส

View icon 141
วันที่ 7 ส.ค. 2566 | 11.31 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - หลังเกิดเหตุโกดังเก็บประทัดและดอกไม้เพลิงระเบิด กลางตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ก็มีการขุดคุ้ยผลประโยชน์ ระหว่างเจ้าของโกดัง กับ เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อยิ่งขุดก็ยิ่งพบ วันนี้ ขยี้ข่าวใหญ่ จัดเต็มกับส่วยโกดังประทัดระเบิด ตอนแรก

ทีมข่าว 7HD ไปฝังตัวทำข่าวอยู่ในพื้นที่ หลังเกิดเหตุดังกล่าว ก่อนระแคะระคาย เพราะดูจุดที่ตั้งโกดัง อยู่ใจกลางตลาด หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวด เจ้าของคือ นายสมปอง และ นางสาวปิยะนุช จะขนประทัด ดอกไม้เพลิง มาเก็บไว้ในโกดังแห่งนี้ไม่ได้ 

นายสมปอง, นางสาวปิยะนุช เป็นใคร เหตุใดกล้า เก็บวัตถุที่ชาวบ้านเรียกว่า ระเบิดเวลา เก็บไว้กลางชุมชน

นายสมปอง เป็นชาวจังหวัดพัทลุง อดีตทำงานในโกดังเก็บประทัด ดอกไม้เพลิง และพลุ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ส่วน นางสาวปิยะนุช ทำงานเป็นเสมียน หรือ เลขานุการ ในโกดังแห่งนี้ แล้วพบรักกัน จึงตกลงปลงใจย้ายกลับมูโนะ สานต่อกิจการสินค้าการเกษตรของพ่อนางสาวปิยะนุช ช่วงนั้นหัวใส นำประทัด ดอกไม้ไฟ มาขาย โดยเก็บไว้ในร้านค้า และอาคารพานิชย์ 2 ชั้น ฝั่งตรงข้ามร้าน

ปรากฏว่า ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ก็เห็นลู่ทาง จึงซื้อที่ดิน 245 ตารางวา สร้างโกดังขนาดใหญ่ ก่อนที่หลังน้ำท่วมใหญ่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถมยกระดับที่ดินแล้วสร้างโกดัง เมื่อเสร็จแล้วชาวบ้านไม่รู้ว่า ตรงนี้ใช้เก็บประทัด และเมื่อรู้ก็ไปตักเตือน ซึ่ง 1 ใน 11 ผู้เสียชีวิต บ้านอยู่ติดกับโกดัง เคยไปยืนต่อว่าหน้าโกดังว่าเหตุใดนำประทัด ดอกไม้เพลิง มาเก็บไว้ในโกดังกลางชุมชน สักวันหนึ่งจะเกิดระเบิดขึ้น แต่ถูก นางสาวปิยะนุช ต่อว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย

เมื่อลักลอบส่งขายมาเลเซีย ก็ทั้ง นายสมปอง และ นางสาวปิยะนุช ก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซื้อบ้านราคาหลายล้านในอำเภอหาดใหญ่ ซื้อรถหรู และเดินทางท่องเที่ยวบ่อยครั้ง

แต่ละครั้งรถบรรทุก 10 ล้อ ตู้ทึบ จากโกดังแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะขนประทัด ดอกไม้เพลิง เข้าไปยังโกดังแห่งนี้ที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ในช่วงกลางดึก บางครั้ง 01.00 น., 02.00 น. ขนกันจนเกือบรุ่งเช้า รถบรรทุกก็ออกจากโกดัง และล็อตล่าสุด ก่อนเกิดเหตุ 2 วัน และบางคืนก็ลักลอบส่งขายมาเลเซีย ทางเรือข้ามแม่น้ำโก-ลก

ซึ่งเรื่องนี้ ชาวบ้านรู้ทั้งรู้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐเปิดทาง เพราะตลอดเส้นทาง ระยะทาง 253 กิโลเมตร มีด่านตรวจถาวร ด่านตรวจความมั่นคง เกือบ 10 ด่าน ไล่มาตั้งแต่พื้นที่จังหวัด สงขลา 1 ด่าน, ปัตตานี  4 ด่าน และจังหวัดนราธิวาส อีก 2 ด่าน แต่ไม่เคยมีการตรวจจับ ยึดของกลางชนิดนี้ได้

จึงเชื่อกันว่า ค้าประทัด ดอกไม้เพลิงข้ามชาติ ต้องแลกกับจ่ายส่วย หรือวงการเรียกว่า "จ่ายรายการ" ให้หลายหน่วยงาน ซึ่งจ่ายรายวัน เฉลี่ยวันละ 2,000 - 3,000 บาท

ส่วนส่วยรายเดือน เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 300,000 - 500,000 บาท ต่อเดือน เพราะบางหน่วยงานจะเก็บปลีกย่อย สัปดาห์ละครั้ง ซึ่งแหล่งข่าวคนนี้ เคยเข้าไปเห็นบอร์ดแขวนอยู่บนผนังหลังร้านนายสมปอง ที่ติดแม่น้ำโก-ลก ต้องจ่ายส่วย 15 - 16 หน่วยงาน เมื่อถาม นายสมปอง ต้องจ่ายอย่างไร หน่วยงานละเท่าไหร่ เจ้าตัวตอบว่า ให้ดูตามบอร์ดที่จดไว้

เหตุการณ์นี้ คนในพื้นที่กลัวว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดู ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ โดยเฉพาะ นายสมปอง กับ นางสาวปิยะนุช เพราะเมื่อปี 2559 ทั้ง 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการแผนกภัยแทรกซ้อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จับกุมพร้อมยึดประทัด ดอกไม้เพลิง ได้มากกว่า 60 ตัน แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

ซึ่งครั้งนี้ ความสูญเสียเกิดขึ้นกับ 11 ชีวิต บ้านเรือนร้านค้าเสียหายนับร้อยหลัง ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ชาวบ้านมูโนะ เกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเรียกร้องให้หน่วยงานพิเศษ เช่น ดีเอสไอ รับทำคดีนี้

ขณะที่ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชาวบ้าน พร้อมตรวจสอบที่เกิดเหตุ ซึ่งพบเกี่ยวโยงเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอิทธิพล มีการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายศุลกากร กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและดอกไม้เพลิง กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะเสนอต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อมีคำสั่งให้สืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งคาดว่าจะรับเป็นคดีพิเศษได้

ตำบลมูโนะ ไม่ได้มีแค่ ส่วยประทัด ยังมีส่วยอีกหลายรูปแบบ เพราะเป็นยุทธศาสตร์ชายแดนไทย - มาเลเซีย สำคัญอีกแห่ง ทำให้มีการค้าสินค้าหนีภาษี และเป็นแหล่งทำเงินของเจ้าหน้าที่ แต่ละเดือน แต่ละหน่วยงาน จะได้เท่าไหร่ ติดตามขยี้ข่าวใหญ่ต่อใน ห้องข่าวภาคเที่ยง 7HD วันพรุ่งนี้