ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ช่วงหลายวันมานี้ เกิดกระแสรูปปั้นครูกายแก้ว ที่ตั้งอยู่บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว จนทำให้หลาย ๆ คนต้องค้นหาว่าครูกายแก้วคือใคร ซึ่งพบว่ามีการอ้างต้นกำเนิดจากกัมพูชา แต่ถ้าถามผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จากกัมพูชา กลับมีคำตอบที่แตกต่างจากที่กำลังมีความเชื่ออยู่ในประเทศไทย
กัมพูชาเผย ไม่มี ครูกายแก้ว ในบันทึกประวัติศาสตร์
บริเวณที่ตั้งรูปปั้นครูกายแก้ว ลานด้านข้างโรงแรมเดอะบาซาร์ แยกรัชดา-ลาดพร้าว วันนี้ ปิดทำการก่อสร้างเทเสาทำโครงหลังคา ตั้งแต่ช่วง 07.00 น. ไปจนถึงเวลา 17.00 น. และจะเปิดให้คนที่ศรัทธา ไปกราบไหว้ได้หลัง 17.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งก็มีคนที่ไม่รู้จำนวนหนึ่ง เดินทางมาเพื่อกราบไหว้ครูกายแก้ว แต่ก็ต้องผิดหวัง
ครูกายแก้ว ชื่อนี้เป็นกระแสขึ้นมาแบบที่หลายคนอาจงง ๆ ว่าเป็นรูปปั้นใคร เหตุที่เป็นข่าว เริ่มจากเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม รถกระบะบรรทุกรูปปั้นขนาดใหญ่เป็นคนกึ่งนก มีปีก เล็บยาวสีแดง และเขี้ยวสีทอง มาติดสะพานลอยบนถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า ก่อนถึงซอยรัชดาภิเษก 36 นั่นจึงทำให้หลาย ๆ คนรู้จักว่ารูปปั้นนี้ คือครูกายแก้ว
เมื่อสืบค้น ก็มีผู้ลงประวัติครูกายแก้ว เป็นผู้มีอาคมแก่กล้า เมื่อกว่าพันปีก่อน เป็นบรมครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในยุคนครวัด-นครธม หรือ กัมพูชาในปัจจุบัน มีผู้สืบทอดวิชาของท่านมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีพระธุดงค์จากไทยไปนั่งสมาธิที่นครวัด แล้วได้เรียนวิชาอาคมของครูกายแก้ว เมื่อเดินทางกลับไทย ก็นำรูปจำลองของครูกายแก้วกลับมา และมอบให้ลูกศิษย์ต่อ ๆ กันมา จนมีการทำรูปปั้นบูชาไว้ในหลายที่
ปิดเคารพบูชา "ครูกายแก้ว" ก่อสร้างหลังคา
ส่วนรูปปั้นครูกายแก้ว ที่มาติดอยู่สะพานลอยถนนรัชดาภิเษก ก็นำมาตั้งไว้ให้ผู้คนเคารพบูชาที่ลานด้านข้างโรงแรมเดอะบาซาร์ แยกรัชดา-ลาดพร้าว มีพิธีบวงสรวงเบิกเนตรเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้คนเดินทางมาร่วมพิธีจำนวนมาก จากนั้น ก็เปิดให้คนเข้าไปเคารพสักการะ พร้อมกับกระแสต่าง ๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบเกิดขึ้น จนมาถึงวันนี้ ก็มีการปิดในช่วงกลางวันเพื่อก่อสร้างหลังคา
นายสันดอน แซ่ตั้ง หัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยของที่นี่ บอกว่า เดิมที่นี่มีรูปปั้นเทพองค์ต่าง ๆ เช่น พระศิวะ ยังไม่มีครูกายแก้ว ก็มีคนเข้ามาเคารพสักการะเรื่อย ๆ แต่ไม่มาก จนเมื่อกระทั่งมีรูปปั้นครูกายแก้ว มาตั้งให้เคารพบูชา ก็มีผู้คนหลั่งไหลเดินทางเข้ามามากเป็นเท่าตัว และจากเดิมที่เคยมีแค่นักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวที่มาพักที่โรงแรม แต่ตอนนี้มีคนไทยเดินทางมาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจากภาคเหนือและภาคใต้ เพื่อมากราบไหว้ขอพรครูกายแก้วโดยเฉพาะ
รุมต้านใช้หมาแมวบูชายัญ "ครูกายแก้ว"
นอกจากกระแสกราบไหว้บูชาครูกายแก้ว ต่อมายังมีโพสต์ของคนที่อ้างว่านับถือครูกายแก้ว ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการบูชาครูกายแก้ว ด้วยการนำสุนัขหรือแมว มาบูชายัญ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ นั่นก็ทำให้มูลนิธิวอชด็อก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กำลังตรวจสอบเรื่องนี้ และขอให้ประชาชนตระหนักและใช้วิจารณญาณ ในการที่จะบูชาสิ่งใด ๆ ตามความเชื่อไม่ให้ผิดกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ ส่วน "แพรรี่" ไพรวัลย์ วรรณบุตร อดีตพระที่ผ่านการบวชเรียน โพสต์แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยเช่นกัน กับการบูชายัญด้วยการทารุณกรรมสัตว์
คนขายของไหว้ แจงห้ามใช้สัตว์บูชายัญ "ครูกายแก้ว"
อีกที่หนึ่งที่ครูกายแก้วตั้งอยู่ คือที่เทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โดยรูปปั้นครูกายแก้ว อยู่ที่นี่มานานกว่า 4 ปีแล้ว นางสาวเอ คนขายของไหว้บูชาภายในเทวาลัย บอกว่า ตั้งแต่เริ่มมีกระแสครูกายแก้ว ก็มีคนรู้จักมากขึ้น เข้ามาไหว้เยอะขึ้น โดยเทวาลัยที่นี่เป็นองค์ที่มังสวิรัติทั้งหมด หากมีใครนำเนื้อสัตว์มาไหว้ จะไม่ให้ไหว้ ยิ่งกระแสตอนนี้ที่ต้องบูชายัญด้วยสุนัขหรือแมว เป็นความเชื่อที่ผิด ไม่ใช่เรื่องจริง
กัมพูชาเผย ไม่มี "ครูกายแก้ว" ในบันทึกประวัติศาสตร์
ท่ามกลางกระแสข่าวที่ปรากฏออกมามากมายแบบนี้ จนถึงคำถามแรก ๆ ที่ว่าครูกายแก้วคือใคร เป็นผู้ทรงวิชาอาคม จนได้เป็นบรมครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อพันกว่าปี สมัยนครวัดนครธม ของกัมพูชาจริงหรือไม่ เบื้องหลังข่าวกับ กาย สวิตต์ จึงสอบถาม ศาสตราจารย์รส จันทราบุตร ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวกัมพูชา เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ ค้นคว้า และเขียนหนังสือประวัติศาสตร์กัมพูชาหลายเล่น ท่านให้คำตอบว่า ท่านได้ศึกษาจากศิลาจารึกปราสาทนครวัด นครธม 1,150 ใบ ไม่มีศิลาจารึกใดที่ระบุชื่อครูกายแก้วไว้เลย
นอกจากนี้ ท่านได้ศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์อื่น ๆ เกี่ยวกับนครวัด นครธม ก็ไม่เคยมีหลักฐานใดระบุว่า ครูกายแก้ว เป็นบรมครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพราะว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับถือพุทธศาสนา นิกายมหายานอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เมื่อได้เห็นรูปปั้นที่เป็นกระแสข่าวเคารพบูชาที่รายการข่าวเย็นประเด็นร้อนส่งไปให้ดู ท่านศาสตราจารย์รส ก็ยืนยันว่า ไม่เคยเห็นรูปเหมือน หรือรูปปั้นใด ในบันทึกประวัติศาสตร์ของนครวัด นครธม เหมือนที่เป็นรูปปั้นเคารพในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ารูปปั้นที่ใช้เคารพในประเทศไทย จะเป็นความเชื่อของคนบางกลุ่มเท่านั้น
ขอบคุณภาพจาก : TikTok @Jo_Jakky