เตือนระวัง! สธ. พบยาเสียสาวตัวใหม่ ออกฤทธิ์เร็วและนานกว่าเดิม

เตือนระวัง! สธ. พบยาเสียสาวตัวใหม่ ออกฤทธิ์เร็วและนานกว่าเดิม

View icon 176
วันที่ 30 ส.ค. 2566 | 14.35 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สธ.เตือนภัยระวังพบ ยาเสียสาวตัวใหม่ มาในรูปลักษณ์ยา Erimin5 ผสมสาร "ฟลูอัลปราโซแลม" เข้าไปช่วยให้ออกฤทธิ์เร็วและนาน 6-14 ชั่วโมง ยังไม่เคยพบในไทย คาดผลิตลักลอบนำเข้ามา 

วันนี้ (30 ส.ค.66) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ ฟลูอัลปราโซแลม ในของกลางยาเม็ดอิริมิน 5 โดยระบุว่า  ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 จ.สงขลา ได้รับของกลางเป็นยาชนิดหนึ่งมาตรวจวิเคราะห์ ลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้มอ่อน ด้านหนึ่งพิมพ์เข 5 อีกด้านหนึ่งพิมพ์สัญลักษณ์ตัวอักษรต่างประเทศ บนแผงพิมพ์ชื่อ "Erimin 5" คาดว่าเป็นการผลิตและลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นการตรวจพบครั้งแรกของไทย

จากการตรวจพบตัวยาชื่อ "ฟลูอัลปราโซแลม"  (Flualprazolam) ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 1 ลำดับที่ 27 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข  ห้ามผู้ใดครอบครอง ห้ามจำหน่าย ห้ามใช้ และไม่มีการใช้ในทางการแพทย์  ซึ่งยังไม่เคยพบในไทยมาก่อน แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศป้องกันการนำมาใช้ เพราะตัวยาชนิดนี้พบในต่างประเทศ

สำหรับ “ฟลูอัลปราโซแลม” เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ที่ใช้รักษาอาการในกลุ่มโรควิตกกังวลและตื่นตระหนก ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า ภาวะติดสุราเรื้อรัง รวมถึงยังใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อและยาระงับอาการชักด้วย ในประเทศไทยจัดให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ซึ่งต้องได้รับการจ่ายยาโดยสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตในการครอบครองเท่านั้น เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาทส่วนกลางในสมอง ส่งผลให้มีการนำยาชนิดนี้ไปใช้ในทางที่ผิดอย่างการก่ออาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดทางเพศ หรือที่เรียกว่า “ยาเสียสาว”


64eef298390534.21760723.jpg
ทั้งนี้ “ฟลูอัลปราโซแลม” มีสูตรทางเคมีเหมือนกับ “อัลปราโซแลม” แต่มีการเพิ่มสาร “ฟลูออรีน” เข้าไปเพื่อให้ออกฤทธิ์บางอย่าง  ซึ่งน่าจะออกฤทธิ์เหมือน “อัลปราโซแลม” ที่ออกฤทธิ์เร็ว แต่มีระยะเวลาการอกฤทธิ์นานกว่า คือ 6-14 ชั่วโมง

"ถึงแม้จะพบตัวอย่างในภาคใต้  แต่ไม่ได้แปลว่าภาคอื่นจะไม่มี  จึงขอให้ระมัดระวังตัว ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มจากผู้ที่ไม่รู้จัก เพราะสารตัวนี้อาจจะไม่ใช่แค่หลับ อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ หากดื่มเครื่องดื่มแล้วมีอาการมึนงง ง่วงซึมผิดปกติ จำอะไรไม่ค่อยได้ ให้รีบขอความช่วยเหลือ ซึ่งร่างกายจะค่อยๆ กำจัดสารออกไป เพียงแต่ตัวนี้ออกฤทธิ์นานกว่าอัลปราโซแลม" นพ.ศุภกิจกล่าว


ด้าน นพ.พิเชษ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า Erimin 5 นั้นเคยมีการจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนที่จะมีการยกเลิกทะเบียนไป  แต่ก็ยังมีการลักลอบนำยา Erimin 5 มาใช้ โดยผสมตัวยาอื่นเข้าไป เมื่อ 3 ปีก่อนเราตรวจพบรูปลักษณ์ Erimin 5 แต่ข้างในเป็นสาร “อีทิโซแลม” ส่วนครั้งนี้เจอเป็นตัว “ฟลูอัลปราโซแลม ที่ถือว่าเป็นการพบครั้งแรกในไทย แต่จริงๆ เคยมีการพบในต่างประเทศมาแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์