ผงะ! เจอ หมึกบลูริง ร้านปิ้งย่างดัง ลูกค้าเข้า รพ.-ร้านไม่รับผิดชอบ ยึดของไม่ให้เอาไปหาหมอ

View icon 194
วันที่ 30 ส.ค. 2566 | 16.30 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - หนุ่มโพสต์คลิป เพื่อนไปกินอาหารที่ร้าน แล้วดันกินหมึกบลูริง ซึ่งเป็นหมึกมีพิษเข้าไป จนอาเจียน แน่นหน้าอก ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ร้านกลับไม่รับผิดชอบแถมยึดของกลางไม่ให้เอาไปหาหมอ

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพหมึกในร้านอาหารแถวกาญจนาภิเษก พร้อมระบุข้อความว่า "หมึกอะไรครับ บลูริง (Blue-Ringed) หรือเปล่าครับ เพื่อนเจอที่ร้านกินไปตัวหนึ่งแล้ว พอจะคีบตัวที่ 2 มากินกลับเห็นลายจึงส่งมาถามก่อน" โพสต์ดังกล่าวมีคนสนใจและเข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก โดยมีคนเข้ามาคอมเมนต์ให้ข้อมูลว่า "หมูกบลูริง" กับ "หมึกอิคคิว" มีลักษณะคล้ายกัน จนหลายคนอาจสับสน แต่จากลักษณะในภาพ น่าจะเป็นหมึกบลูริง ซึ่งเป็นหมึกมีพิษ ซึ่งพิษนั้นจะอยู่ที่ต่อมน้ำลายและทนความร้อนสูงถึง 200 องศาเซลเซียส

โดยผู้โพสต์ได้อัปเดตเพิ่มเติมว่า เพื่อนที่ประสบเหตุได้ติดต่อแจ้งทางร้าน ร้านบอกว่าไม่มีพิษ และร้านมี QC ซ้ำร้ายทางร้านยังริบของกลาง จากนั้นเพื่อนได้เดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ด้วยอาการแน่นหน้าอก อาเจียน หมอตรวจอาการมองว่า ยังคงปกติดี แต่ต้องเฝ้าดูอาการ เพราะไม่มีหมึกเป็นตัวมาให้หมอ กระทั่งผ่านไปราว ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อนเจ้าของโพสต์เริ่มอาเจียนหนัก ส่วนแฟนเจ้าของโพสต์ที่ไปกินด้วยกันก็เริ่มแน่นหน้าอก โชคดีที่ถึงมือหมอแล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก 

ขณะที่ญาติของผู้ประสบเหตุได้เดินทางไปที่ร้านอาหารดังกล่าว เพื่อไปสอบถามข้อเท็จจริงว่าร้านนำหมึกมีพิษมาให้ลูกค้ากินได้อย่างไร ทางร้านมีทีท่ากลับคำพูด จากตอนแรกบอกว่าเป็นหมึกไม่มีพิษ และทิ้งไปแล้ว กลายเป็นยินดีที่จะรับผิดชอบ

ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความให้ความรู้เรื่องนี้ ระบุว่า หมึกสายวงน้ำเงิน (หมึกบลูริง) ห้ามนำมารับประทาน แม้จะทำให้สุกก็ตาม ต่อมพิษของหมึกบลูริงจะอยู่ที่ปาก ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ที่ได้รับพิษนั้นจึงมักเกิดจากการถูกมันกัด ไม่ใช่จากการสัมผัสโดนตัว แต่ก็ไม่ควรรับประทานเข้าไปอยู่ดี เพราะอาจเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ พิษของหมึกบลูริง มีชื่อว่า Maculotoxin ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิษของปลาปักเป้า พิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาททำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต

สำหรับวิธีการสังเกตความแตกต่างระหว่าง หมึกอิกคิว ที่ไม่มีพิษ รับประทานได้ มีขายทั่วไปกับ หมึกบลูริง หมึกมีพิษ สังเกตง่าย ๆ คือ หมึกอิกคิว จะมีลายวงแหวนที่ลำตัว 1-2 วง รับประทานได้ไม่มีพิษ ส่วน หมึกบลูริง มีพิษห้ามกิน สังเกตที่ลำตัวขนาดเล็ก 4-5 ซม., หนวด ยาวประมาณ 15 ซม., มีลายวงแหวนสีฟ้าสะท้อนแสงเล็ก ๆ ตามลำตัวและหนวด ส่วนพิษหมึกบลูริง หากกินเข้าไปจะมีอาการชาบริเวณ ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า แขน ขา เป็นตะคริวในที่สุดมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจไม่ออก และเสียชีวิตภายใน 4-6 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง