หมึกบลูริง คนกินเข้า รพ.แล้ว มีอาการคลื่นไส้ แน่นหน้าอก

หมึกบลูริง คนกินเข้า รพ.แล้ว มีอาการคลื่นไส้ แน่นหน้าอก

View icon 220
วันที่ 30 ส.ค. 2566 | 10.36 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมึกบลูริง คนกินเข้า รพ.แล้ว มีอาการคลื่นไส้ แน่นหน้าอก อ.เจษฎ์ชี้เป็นหมึกสายวงน้ำเงินหรือบลูริง ต่อมพิษอยู่ที่ปาก ไม่ควรกิน พร้อมแนะจุดสังเกตลวดลายรูปวงแหวนมีอยู่ทั้งที่ตัวและหนวด ต่างกับหมึกสายอิ๊กคิว ที่มีวงแหวนแค่ 1-2 วงที่ตัว ไม่มีพิษ

ความคืบหน้ากรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งโพสต์เข้ามาถามความเห็นในกลุ่มงูไทยอะไรก็ได้ all about Thailand snakes โดยสอบถามว่า หมึกในภาพ เป็นหมึกอะไร มีพิษไหม ซึ่งชาวเน็ตที่เห็นภาพต่างเข้ามาแสดงความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าเป็นหมึกบลูริง อันตราย แม้ผ่านความร้อนทำให้สุก พิษก็ไม่สลาย ต่อมาผู้ใช้เฟซบุ๊กคนดังกล่าว เข้ามาคอมเมนต์อัปเดตอาการว่า มีอาการคลื่นไส้ ส่วนแฟนมีอาการแน่นหน้าอก เข้าไปนอนสังเกตอาการในโรงพยาบาลแล้ว และได้รับแจ้งจากทางร้านว่า ไม่ใช่บลูริง

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "หมึกสายวงน้ำเงิน ห้ามนำมารับประทาน แม้จะทำให้สุกก็ตาม" วานนี้ (29 ส.ค.66) มีคนนำภาพของปลาหมึกในอาหาร (น่าจะประเภทปิ้งย่าง หรือจิ้มจุ่ม) มาโพสต์ถามในกลุ่ม FB ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย 3 กลุ่ม (คือ กลุ่ม งูไทยอะไรก็ได้ , siamensis.org , นี่มันตัวอะไรกัน ) ด้วยความที่เขาสงสัยว่าเป็น "หมึกบลูริง" หรือเปล่า และคำตอบก็ออกมาค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ ว่าเจ้านี่น่าจะเป็น "หมึกบลูริง หรือหมึกสายวงน้ำเงิน" สายพันธุ์หนึ่งของปลาหมึกที่มีพิษร้ายแรงมาก พบได้ในประเทศไทย และมีคำเตือนกันมาหลายครั้ังแล้ว ว่าห้ามนำมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคเด็ดขาด เพราะถึงแม้จะเอาไปทำให้สุกก็ตาม แต่สารพิษในตัวมันก็ทนความร้อนสูงได้ถึง 200 องศา

ต่อมพิษของหมึกบลูริงจะอยู่ที่ปาก (ที่ต่อมน้ำลาย salivary gland) ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ที่ได้รับพิษนั้นจึงมักเกิดจากการถูกมันกัด ไม่ใช่จากการสัมผัสโดนตัว  แต่ก็ไม่ควรรับประทานเข้าไปอยู่ดี เพราะอาจเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้

วิธีสังเกตก็คือ มันเป็นหมึกสาย รูปทรงแบบเดียวกับปลาหมึกยักษ์ตัวเล็กๆ หัวโตๆ หนวดเยอะๆ ไม่ใช่แบบปลาหมึกกล้วย หรือหมึกกระดอง และที่สำคัญคือ มีลวดลายรูปวงแหวนอยู่ทั่วไป ทั้งที่ตัวและหนวด ซึ่งจะแตกต่างกับพวกหมึกสายอิ๊กคิว ที่มีวงแหวนแค่ 1-2 วงที่ตัว อันนั้นไม่มีพิษ สามารถนำมากินได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง