คอลัมน์หมายเลข 7 : กังขา นายก อบต.แก่งเสี้ยน ขาดคุณสมบัติ ผู้ว่าฯ-นอภ. เพิกเฉย ?

View icon 1.2K
วันที่ 8 ก.ย. 2566 | 20.12 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ตรวจสอบปมข้อกังขาเกี่ยวกับคุณสมบัติการนั่งตำแหน่งนายก อบต.แก่งเสี้ยน หลังศาลฯ พิพากษาเป็นบุคคลล้มละลาย อีกทั้งยังถูกตรวจสอบข้อกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ติดตามจากรายงาน

เหตุใดทางจังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอเมืองกาญจนบุรี จึงไม่ดำเนินการใด ๆ กับผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมการบริหารงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่อไปในทางทุจริต ผ่านโครงการจ้างเหมากำจัดขยะมูลฝอย ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย อบต.แก่งเสี้ยน ประจำปีงบประมาณ 2566 ในวงเงินไม่เกิน 19,372,000 บาท ตลอดเกือบ 1 ปีที่่ผ่านมา จนกระทั่งถูกร้องเรียนว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่ประกอบไปด้วยปลัดอำเภอ เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ และท้องถิ่นอำเภอฯ ซึ่งต่อมาก็พบถึงข้อพิรุธความผิด เห็นควรให้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นข้อสังเกตที่สุกัญญา เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ โดยเธอเชื่อว่าเรื่องราวและกระบวนการที่ล่าช้า เป็นเพราะต้องการช่วยเหลือกัน ซึ่งอาจเกิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ระหว่างการตรวจสอบ คอลัมน์หมายเลข 7 ยังได้รับหนังสือแจ้งสถานะภาพบุคคลล้มละลาย เขียนระบุถึงนายอำเภอเมืองกาญจนบุรี ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 ว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาให้นายจักรกฤษ ซึ่งดำรงตำแหน่ง นายก อบต.แก่งเสี้ยน เป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา

ซึ่งหากพิจารณา ตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 50 (2) ที่บัญญัติถึงคุณสมบัติในการรับเลือกตั้ง ต้องไม่บุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต น่าสงสัยว่ากรณีนี้อาจเข้าลักษณะต้องห้ามหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น เหตุใดผู้บังคับบัญชา จึงเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ปรากฎขึ้น

ขณะที่ความคืบหน้าตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจ้าง โครงการจ้างเหมากำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นร้องเรียนกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส เวลานี้ทางอนุกลั่นกรองของ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่ามีมูล อยู่ระหว่างเสนอให้กรรมการ ป.ป.ช. ตั้งกรรมการไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง ก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา และชี้มูลความผิดตามกระบวนการต่อไป

ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าขบคิด เมื่อเจ้าหน้าที่และข้าราชการ อบต.แก่งเสี้ยน จำนวนเกือบ 10 คน รวมกลุ่มกันยื่นขอความคุ้มครอง โดยอ้างว่าถูก นายจักรกฤษ บีบบังคับ และข่มขู่ ให้เขียนรายงานชี้แจงการเข้าไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของอำเภอ และเซ็นยินยอมการให้ข้อมูล กรณีดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างเหมากำจัดขยะมูลฝอย

จากเอกสารดังกล่าว จึงเกิดเป็นคำถามว่านี่เป็นความพยายามจากผู้ที่ถูกร้องเรียน ในการใช้อำนาจเข้าแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจจะต้องเร่งพิจารณา เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พยานอาจเกิดความหวาดกลัวจนส่งผลต่อรูปคดี โดยตามหลักการตรวจสอบที่โปร่งใส ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ควรอยู่ในอำนาจที่จะให้คุณให้โทษต่อพยานได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง