หมอธีระวัฒน์ ยกเคสเตือนนิสัย เป็นอะไรแล้วกินยาไว้ก่อน เกิดผลข้างเคียงเป็นลูกโซ่

หมอธีระวัฒน์ ยกเคสเตือนนิสัย เป็นอะไรแล้วกินยาไว้ก่อน เกิดผลข้างเคียงเป็นลูกโซ่

View icon 9.3K
วันที่ 16 ก.ย. 2566 | 12.32 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมอธีระวัฒน์ ยกเคสเตือนนิสัย เป็นอะไรแล้วกินยาไว้ก่อน เกิดผลข้างเคียงเป็นลูกโซ่

วันนี้ (16 ก.ย.66) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก เตือนผลข้างเคียงกินยาไว้ก่อน ระบุว่า โดปยาเป็นกำ…ก็ไม่รอด

เรื่องนี้เกี่ยวกับการได้รับยาที่อาจไม่ถูกต้อง พอเหมาะ และสมเหตุสมผล และเกิดปฏิกิริยาข้างเคียงต่อกันเป็นลูกโซ่ คนไข้รายนี้เป็นหนึ่งในหลาย 10 รายซ้ำซากที่เจอ

คุณสมชาย (นามสมมุติ) อายุ 56 ปี ครอบครัวพามาพบหมอเพื่อให้ช่วยรักษาโรคสมองเสื่อม อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน และอื่นๆ การตรวจสอบยาพบว่า คุณสมชายมียา 22 ชนิด (43 เม็ดต่อวัน) และมียาฉีดอาทิตย์ละครั้ง

เดิมมีสุขภาพดีมาตลอด ลงพุงเล็กน้อย มีไขมัน คอเลสเตอรอลสูงประมาณ 260 โดยที่มีไขมันเสียที่เรียกว่า LDL เท่ากับ 120 และมีไขมันดี หรือ HLD 45

ซึ่งไขมันระดับนี้คุมอาหาร ออกกำลังสม่ำเสมอ ควรจะเพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเพื่อสุขภาพ คือวันละ 2 เป๊ก วิสกี้ต่อวัน ความดันโลหิตไม่เคยสูงกว่า 130/85 มาตลอด ซึ่งถือว่าไม่มีความดันโลหิตสูง ออกกำลังตามสะดวก หมายความว่า ออกน้อยมาก หรือไม่ออกเลย แต่ยังคงทำงานธุรกิจได้อย่างกระฉับกระเฉง ครอบครัวไม่มีใครเจ็บป่วยทางโรคเส้นเลือดของหัวใจ หรือสมองและไม่มีสมองเสื่อม

อาการเริ่มต้น เมื่อคุณสมชายเริ่มบ่นให้ภรรยาฟังว่ามี "บ้านหมุนโคลงเคลง" เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว อาการหมุนไม่รุนแรง ไม่เคยล้ม ขณะที่ล้มตัวลงนอนตะแคงข้างขวา จะเกิดอาการเวียนหัวเป็นระยะสั้นๆ หรือเมื่อเปลี่ยนท่าก็ดูเหมือนอาการจะหายไป เดินเหินยังทำได้ปกติ ไม่มีเห็นภาพซ้อน หูไม่มีเสียงดัง ไม่มีชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีก หรือมีมือ-แขนแกว่งจับของไม่ถูก

ภรรยาพาคุณสมชายไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้รับการวินิจฉัยเกือบในทันทีที่เอ่ยถึงอาการบ้านหมุนว่า น่ากลัวจะเป็นเส้นเลือดตีบในสมอง และถูกจับตัวเข้าทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตามลำดับ และการตรวจอีกสารพัด

และได้รับคำบอกเล่าว่าโชคดีที่ยังไม่เป็นมาก แต่ต้องรีบรักษาป้องกันไว้ก่อน โดยได้ยาแก้เวียน 2 ขนาน นามชื่อ Flunarizine และ Cinnarizine ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณด้วยว่าช่วยระบบไหลเวียนเลือดสมองดีขึ้น (ซึ่งไม่จริง) ได้ยาบำรุงสมอง ซึ่งในเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์สรรพคุณว่าเก่งจริง อีก 5 ขนาน

และเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความเฉียบคมของสมอง ได้ยาป้องกันสมองเสื่อมอีก 2 ขนาน (ซึ่งไม่เป็นความจริงเช่นเคย) พร้อมกับยาป้องกันเส้นเลือดตีบ 2 ขนาน ซึ่ง 1 ใน 2 นั้น มียาแอสไพรินเป็นส่วนผสม นอกจากนั้น เพื่อเป็นการปกป้องเส้นเลือดจากไขมันตกตะกอนจึงได้ยาลดไขมันอีก 2 ขนาน

ภายในสัปดาห์แรก คุณสมชายดูจะดีขึ้นจากบ้านหมุนโคลงเคลง แต่หลังจากสัปดาห์ที่ 4 คุณสมชายตัวแข็งๆ มือสั่น เดินช้า ตาไม่ค่อยกะพริบ หน้าเคร่ง เฉยเมย และมีอาการปวดเมื่อยตามไหล่ หลัง ขาทั้ง 2 ข้าง จนนอนไม่ค่อยหลับและท้องอืด เมื่อกลับไปพบคุณหมอคนแรก ได้รับการวินิจฉัยว่า คุณสมชายเริ่มมีอาการของโรคพาร์กินสัน ต้องได้รับยาอีก 2 ขนาน และยาแก้ปวดเมื่อยอีก 1 ขนาน ยาท้องอืดอีก 1 ขนาน

ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว อาการของโรคพาร์กินสัน เกิดจากยาแก้เวียน ซึ่งข้อบ่งชี้กำหนดให้ใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ และผลข้างเคียงจะก่อให้เกิดโรคพาร์กินสันได้หากใช้ติดต่อกัน

โรคพาร์กินสัน ตามปกติจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จนระยะเวลาเป็นหลายปีจึงมีสภาพเช่นนี้ ยกเว้นมีการโดปยาช่วยโรคพาร์กินสันอย่างมโหฬารจะเกิดอาการเลวลงอย่างรวดเร็วได้ อาการปวดเมื่อยเกิดจากผลข้างเคียงของยาลดไขมัน ซึ่งกรณีนี้ได้รับ 2 ตัวพร้อมกัน เพื่อลดทั้งคอเลสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอไรด์จะยิ่งเพิ่มอัตราของอาการข้างเคียงนี้

ในกรณีของคุณสมชายยังได้วิตามินบำรุงหลายกำมือ ผ่านไปอีก 3 อาทิตย์อาการตัวแข็งยังเป็นอยู่ และมีอาการงกๆ เงิ่นๆ มากขึ้น เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยน หวาดระแวง กลัวสมบัติจะหาย เห็นภาพหลอน จึงไปพบคุณหมอคนที่ 2 ซึ่งก็ได้ให้ยารักษาโรคจิตและยานอนหลับ

ทั้งนี้ อาการทางจิตเป็นปฏิกิริยา หรือผลข้างเคียงต่อยาสมองเสื่อมและยาช่วยบรรเทาโรคพาร์กินสัน ในโลกนี้ยังไม่มียาตัวใดที่สามารถรักษาอัลซไฮเมอร์และพาร์กินสันได้

ยาป้องกันสมองเสื่อม 2 ขนานที่ว่านี้ไม่มีผลใดๆ ในการชะลอหรือรักษาต้นเหตุ เป็นเพียงกระตุ้นสารเคมีในสมองให้รู้สึกตื่นตัว ฉับไว จะได้จำได้มากขึ้นบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ คุณหมอคนที่ 2 ยังได้ให้ยาแก้โรคกระเพาะท้องอืดมาอีก 1 ขนาน

อาการทั้งหมด ดี-เลว สลับกันไป จนทรุดหนักลงเรื่อยๆ ในช่วง 4 เดือนหลังจนถึงกับเดินลำบาก ต้องนั่งรถเข็นและพูด "ถามคำ ตอบคำ" ซึ่งน่าจะเป็นผลของยาโรคจิต ซึ่งทำให้อาการพาร์กินสันเลวลง และคุณสมชายกลายเป็นซอมบี้ มีอาการของโรคพาร์กินสันจริง ร่วมกับอิทธิพลของยานอนหลับ ซึ่งจะทำให้สมองและประสาทรับรู้การโต้ตอบ สั่งงานเชื่องช้าไปด้วย

หมอแนะนำให้คุณสมชาย หยุดยาทั้ง 23 ชนิด รวมทั้งยาฉีด

หนึ่งเดือนผ่านไปจนหมอลืมไปแล้วด้วยซ้ำ คุณสมชายเดินเข้ามาพบหมอในห้องตรวจพร้อมกับครอบครัวในสภาพปกติ จากอาการทั้งหมด คุณสมชายมีอาการบ้านหมุนจาก "หินปูนท่อน้ำในหู" ซึ่งเป็นโรคไม่ร้ายแรง แต่อาจเป็นๆ หายๆ และวิธีการรักษา คือใช้ยาแก้เวียน แต่น้อยเท่าที่จำเป็น และให้มีการเคลื่อนไหวหรือมีการบริหารท่าต่างๆ เพื่อปรับสมดุลจาก "หินปูนท่อน้ำในหู" นำไปสู่การวินิจฉัย "อัมพฤกษ์"

ซึ่งไม่เป็นจริงและได้ยาบำรุงรวมทั้งยาผีบอกอีกนับไม่ถ้วน และจากความเชื่อของคุณสมชายเองยังได้เสาะหาอาหารเสริมที่โฆษณาในทีวี-นิตยสารอีก 3-4 ชนิด จนตัวคุณสมชายได้กลายเป็น "สนามรบ" ของยาหลายชนิดและเป็นที่มาของการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์…

การเลิกนิสัยที่อะไรๆ ต้องกินยาก่อน น่าจะเป็นบทเรียนของคุณสมชายและเพื่อนแพทย์ทุกคนครับ