เปิดเงื่อนไข มาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี  เริ่ม 1 ต.ค. 66 นี้

เปิดเงื่อนไข มาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี เริ่ม 1 ต.ค. 66 นี้

View icon 5.1K
วันที่ 26 ก.ย. 2566 | 17.11 น.
เกาะกระแสออนไลน์
แชร์
เช็กเลย พักหนี้เกษตรกร เปิดเงื่อนไข หลัง ครม.เคาะมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี  เริ่ม 1 ต.ค. 66 นี้

พักหนี้เกษตรกร วันนี้ 26 ก.ย. 66  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี

โดยมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล มีเงื่อนไขดังนี้

- เกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท
- มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 - 3 เดือน และ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs))
- จะได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
- เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567

สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว

ซึ่งขั้นตอนการดำเนินเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้มีดังนี้

- แสดงความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์โดยกรอกหมายเขประจำตัวประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์ ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile 
- จากนั้นระบบจะมีการประมวลข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติ หากเข้าเกณฑ์ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรการ ธ.ก.ส. จะนัดหมายลูกค้าและผู้ค้ำประกันไปที่สาขาหรือจุดบริการที่นัดหมาย
- กรณีที่เกษตรกรไม่สะดวก สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการที่สาขาใกล้บ้านทั่วประเทศ พนักงานจะอำนวยความสะดวกในการแจ้งความประสงค์ผ่าน BAAC Mobile

นอกจากนี้นอกจากนี้เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs


ขอบคุณข้อมูลจาก  กระทรวงการคลัง,ธ.ก.ส.