โขง ลูกเสือโคร่งของกลางมีก้อนบวมที่ขาหน้าซ้าย

โขง ลูกเสือโคร่งของกลางมีก้อนบวมที่ขาหน้าซ้าย

View icon 88
วันที่ 29 ก.ย. 2566 | 20.08 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
"โขง" ลูกเสือโคร่งของกลาง มีก้อนบวมที่ขาหน้าซ้าย อักเสบจากการกดทับบนพื้นปูนเป็นเวลานาน ทีมสัตวแพทย์รักษาด้วยเครื่องพลังงานสนามแม่เหล็ก เร่งเสริมแคร่ไม้ในคอกลูกเสือ "ขิง ข้าว โขง" เพื่อลดการกดทับของข้อศอกกับพื้นปูน

ลูกเสือโคร่งของกลาง นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดเผยว่า ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และฝ่ายจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สอส.สบอ.3 (บ้านโป่ง) ทำการรักษาลูกเสือโคร่ง เพศผู้ ชื่อโขง (สัตว์ป่าของกลาง) โดยใช้เครื่องแม็กเนโต Magnetotherapy Vet  (เครื่องมือแพทย์ที่ให้การรักษาด้วยพลังงานสนามแม่เหล็ก) ที่ได้รับมอบจาก คุณกัญจนา ศิลปอาชา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.66 เพื่อใช้ทำการรักษาสัตว์ป่าป่วยของศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี และ สัตว์ป่าในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยรายละเอียดการรักษา ลูกเสือโคร่ง (โขง) ว่า อาการป่วยที่พบ บริเวณข้อศอก ขาหน้าข้างซ้าย เป็นก้อนบวม กดคลำตรวจพบว่ามีลักษณะนิ่ม มีของเหลวอยู่ภายใน เป็นลักษณะของการอักเสบ เกิดการจากการกดทับบนพื้นปูนบ่อยครั้ง และยาวนาน ซึ่งเสือโคร่ง (โขง) มีพฤติกรรมชอบนอนบนพื้นปูนเป็นส่วนใหญ่ จึงได้ทำการใช้เครื่องแม็กเนโต ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารักษา เพื่อลดอาการบวม อักเสบ และลดปวด โดยให้ลูกเสือโคร่ง (โขง) นอนทับแผ่นปล่อยคลื่นแม่เหล็กแม่ไฟฟ้า โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทะลุ ทะลวงไปยังเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ ตามโปรแกรมการรักษาที่ตั้งไว้กับตัวเครื่อง

ด้าน สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โพรแกรมการรักษา ในช่วงระยะเวลา 14 วันแรก จะต้องทำการรักษาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง โดยตั้งเวลาไว้ 20 นาที ต่อ 1 ครั้ง และหลังจากครบ 14 วัน ให้ทิ้งช่วงการรักษา 2-3 วัน ต่อ 1 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ทั้งนี้การรักษาด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดนี้ จะลดปริมาณการใช้ยารักษากับสัตว์ป่วยได้ กรณีสัตว์ป่วยมีแผลเรื้อรัง มีอาการปวดบวมอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และกรณีกระดูกแตกหัก (เพิ่มการเชื่อมติดกันของกระดูก เพิ่มมวลกระดูกในภาวะกระดูกบาง) 

นอกจากนี้ ภายในคอกนอนของลูกเสือโคร่ง ขิง ข้าว และโขง จะต้องทำการเพิ่มแคร่ไม้ สำหรับให้ลูกเสือนอนเพิ่มเติม เพื่อลดการกดทับของข้อศอกกับพื้นปูนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง