ดูแลสุขภาพกาย - ใจให้แข็งแรง ด้วยศาสตร์แผนจีน ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ

ดูแลสุขภาพกาย - ใจให้แข็งแรง ด้วยศาสตร์แผนจีน ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ

View icon 212
วันที่ 14 ต.ค. 2566 | 12.34 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ หลักการดูแลสุขภาพกาย - ใจ ให้แข็งแรง ด้วยศาสตร์แผนจีน ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ

เทศกาลถือศีลกินเจ จะเริ่มต้นตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ  ไปจนถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่    15 - 23 ตุลาคม 2566  นายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เทศกาลถือศีลกินเจ หนึ่งในประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จะรักษาศีล ปฏิบัติตามหลักธรรม  งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเชื่อว่า  เป็นการชําระจิตใจให้บริสุทธิ์

โดยการบริโภคผัก และ ผลไม้ ซึ่งอุดมไปด้วยกากใย วิตามิน แร่ธาตุ ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ช่วยให้ผิวพรรณสดใส รวมถึงการปรุงอาหารจะไม่ปรุงรสจัด มีผลดีต่อสุขภาพ

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีหลักการดูแลสุขภาพช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ คือ เลือกรับประทานอาหาร ที่ดีต่อสุขภาพเพื่อให้เกิดความสมดุลของร่างกาย สำหรับการเลือกรับประทานอาหาร มีข้อแนะนำดังนี้

1.ผักและผลไม้    ที่นำมาประกอบอาหารเจส่วนใหญ่มักจะมีฤทธิ์เย็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายของคนบางประเภทที่ไม่ชอบความเย็น แล้วอาจทำให้มีผลกระทบต่อร่างกาย เช่น มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องอืด ท้องเสียง่าย ทำให้ง่วงบ่อย และ รู้สึกไม่สดชื่น ทางที่ดีก่อนจะรับประทานควรนำพืช ผักต่างๆไปปรุงด้วยความร้อนซึ่งจะทำให้ฤทธิ์เย็นลดลงได้

2.รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งจำพวกโปรตีนสามารถรับประทานในรูปแบบธัญพืชและพืชตระกูลถั่วได้ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง อัลมอนด์ โปรตีนเกษตร และ เต้าหู้   เพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์

3. ตามคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง กล่าวว่า “การทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม รสจัด มากเกินทำให้เกิดโรคได้” ดังนั้นควรลดอาหารรสจัด และ เปลี่ยนการปรุงอาหารจากผัดหรือใช้น้ำมันมาเป็นการลวกหรือนึ่งแทน

4.ไม่ควรรับประทานอาหารต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และรับประทานอิ่มเกินไป ทานแต่ละมื้อด้วยหลักที่ว่า “มื้อเช้าให้กินดี มื้อกลางวันกินให้อิ่ม มื้อเย็นกินให้น้อย”  และ หลังมื้ออาหารให้ดื่มชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยการย่อย เช่น ชาแดงเปลือกส้มซานจา ประกอบด้วย ชาแดง 2 กรัม  เปลือกส้ม 9 กรัม และ ซานจา 7 กรัม สรรพคุณช่วยการย่อยอาหารจำพวกไขมันได้

การรับประทานอาหารเจ มีข้อพึงระวังในผู้ป่วยหรือผู้ที่กำลังพักฟื้นร่างกาย ไม่เหมาะที่จะรับประทานอาหารเจ เนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อมาซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ต้องการสารอาหารให้ครบถ้วนในการเจริญเติบโต และ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง เพราะอาหารเจที่เป็นโปรตีนจากถั่วเหลืองจะมีปริมาณฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ซึ่งอาจมีผลต่อโรคดังกล่าวได้

นายแพทย์กุลธนิต กล่าวอีกว่า  นอกจากหลักการเลือกรับประทานอาหารเจแล้ว แนะนำการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงในช่วงเทศกาลกินเจ เช่น รำมวยไทเก๊ก ชี่กง ว่ายน้ำ เดินเบาๆ หรือตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย   ควรออกกำลังกายทุกวัน วันละ 1 - 2 ครั้ง ช่วงเช้าตรู่หรือช่วงหลังอาหารเย็น ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง พร้อมทั้ง ทำจิตใจให้สงบดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง