ภูมิใจไทย ยื่น กกต.สอบก้าวไกลขับ หมออ๋อง ชี้โทษถึงขั้นยุบพรรค

View icon 60
วันที่ 9 พ.ย. 2566 | 06.10 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน ภูมิใจไทยไม่รอช้า จับประเด็นขับออก สส. ไล่ขยี้ก้าวไกล ศุภชัย ชี้ กระบวนการขับออก ปดิพัทธ์ สันติภาดา ไม่ได้มาจากเหตุผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล แต่เสมือนเป็นการลาออกเอง เป็นการสมคบคิดหรือแสดงเจตนาลวงหรือไม่ เตรียมยื่น กกต. สอบ ชี้โทษถึงยุบพรรค

ภูมิใจไทย ยื่น กกต.สอบก้าวไกลขับ หมออ๋อง ชี้โทษถึงขั้นยุบพรรค
นายศุภชัย ใจสมุทร อดีต สส. พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลขับ 2 สส. พรรคก้าวไกล คือ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ และ นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา กรณีการคุกคามทางเพศ ว่าเป็นการขับออกที่มีการดำเนินการเป็นขั้นตอนตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลและกฎหมาย แตกต่างจากการขับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากพรรคก้าวไกล เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากคำแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลแล้ว ระบุเพียงว่า ให้ นายปดิพัทธ์ ออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกล โดยมิได้มีการแถลงว่ามีการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับพรรค หรือมีการดำเนินการทางวินัยสมาชิกตามข้อบังคับพรรคอย่างไร ไม่เห็นกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือรวบรวมพยานหลักฐานประกอบขึ้นเป็นสำนวนคำกล่าวโทษ ที่สำคัญ คือ ยังไม่ปรากฏมติของพรรคก้าวไกลด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวตามข้อบังคับ การดำเนินการของพรรคก้าวไกลจึงยังไม่ถูกต้องครบถ้วน นายปดิพัทธ์ ยังคงสภาพเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ไม่อาจไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ นอกจากนี้ แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลยังชี้แจงในทำนองว่า นายปดิพัทธ์ ลาออกโดยที่พรรคไม่ได้มีมติขับออก จึงส่งผลให้สมาชิกภาพความเป็น สส. ของ นายปดิพัทธ์ สิ้นสุดลงในทันที หากพรรคก้าวไกลมิได้ดำเนินการตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลและกฎหมาย การกระทำดังกล่าวเป็นการสมคบคิดหรือแสดงเจตนาลวงระหว่างพรรคก้าวไกล กับ นายปดิพัทธ์ อันเข้าข่ายกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงส่งเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งให้พิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกลต่อไป

จับตามติศาล รธน. 15 พ.ย. ยุบ-ไม่ยุบ ก้าวไกล
แต่คดีที่มาแน่ จ่อรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ 15 พฤศจิกายน นี้ พร้อมกัน 2 เรื่อง

เรื่องแรก กรณีที่มีชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จะถือว่าเป็นการถือหุ้นสื่อในวันที่สมัครรับเลือกตั้งจนเป็นเหตุให้ความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ นายพิธา ยังคงหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. เพื่อรอคำวินิจฉัยที่จะมีขึ้น

และอีกคดีหนึ่ง สืบเนื่องจาก นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไข มาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีนี้มีโทษไปถึงขั้นยุบพรรคด้วย

ดังนั้น 15 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นอีกวันสำคัญที่ชี้ชะตา นายพิธา และ พรรคก้าวไกล ว่าจะซ้ำรอยอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลออกมาหน้าไหน คำวินิจฉัยที่จะมีขึ้นจะมีผลสะเทือนต่อการเมืองไทยอย่างแน่นอน