ภาพเก่าเล่าเรื่อง : 25 พฤศจิกายน 2550 ไขปริศนาคดีฆาตกรรม “โทโมโกะ คาวาชิตะ” สาวญี่ปุ่นผู้ชื่นชอบประเทศไทย

ภาพเก่าเล่าเรื่อง : 25 พฤศจิกายน 2550 ไขปริศนาคดีฆาตกรรม “โทโมโกะ คาวาชิตะ” สาวญี่ปุ่นผู้ชื่นชอบประเทศไทย

View icon 485
วันที่ 18 พ.ย. 2566 | 19.23 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ภาพเก่าเล่าเรื่อง : 25 พฤศจิกายน 2550 ไขปริศนาคดีฆาตกรรม “โทโมโกะ คาวาชิตะ” สาวญี่ปุ่นผู้ชื่นชอบประเทศไทย

ภาพข่าว 25 พฤศจิกายน 2550 นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นถูกฆาตกรรม

โทโมโกะ คาวาชิตะ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย แต่กลับถูกพบเป็นศพที่ทางขึ้นวัดสะพานหิน บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ในประเทศที่เธอชื่นชอบและใฝ่ฝันจะมาเที่ยวตลอด 6 ปี ตามคำให้สัมภาษณ์ของบิดาเธอ

ตำรวจท้องที่สันนิษฐานว่า โทโมโกะพยายามขัดขืนจากการดักชิงทรัพย์ จึงถูกปาดคอเสียชีวิต แต่สิ่งที่หายไปคือ พาสปอร์ตและกล้องถ่ายรูปดิจิทัล ส่วนเงินสดจำนวน 2,877 บาทไม่ได้ถูกขโมย ขณะที่สถานที่เกิดเหตุค่อนข้างเปลี่ยว ผู้ก่อเหตุไม่ทิ้งหลักฐานใดๆ ไว้ พยานหลักฐานที่ดูจะเป็นความหวังในการตามล่าคนร้ายมีแค่ เสื้อยืดแขนสั้นสีขาว กางเกงสามส่วนสีน้ำเงิน เสื้อคลุมแขนยาวสีน้ำตาล ไม้กวาดทางยาว ขวดน้ำตราช้างศึก โดยจากการตรวจสอบพบวัตถุพยานสำคัญ 2 ชิ้น คือ ไม้กวาดหักพบคราบเลือด แต่ก็มีน้อยเกินไป และพบ DNA บุคคลปริศนาที่บริเวณด้านหลังขอบกางเกงของโทโมโกะ กลายเป็นความยากของคดี จนได้ยุติการสืบสวนและสอบสวนไว้ชั่วคราวในปี 2552

ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ได้รับเป็นคดีพิเศษตามคำขอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2556 พร้อมให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงไล่ตรวจ DNA บุคคลที่อยู่ใกล้เคียงในวันนั้นเกือบ 400 คน แต่ก็ไม่พบความเกี่ยวข้อง ทำให้ต้องยุติการสืบสวนสอบสวนไว้ชั่วคราว ขณะที่ครอบครัวของ โทโมโกะ ได้เดินทางมาไว้อาลัยลูกสาวที่จุดเกิดเหตุทุกปี พร้อมติดตามสอบถามความคืบหน้าคดี เพราะเกรงว่าลูกสาวจะตายฟรี

กระทั่งในปี 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษพบข้อมูลน่าสงสัยและมีผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับฟาร์มหมู ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุพอสมควรแต่สามารถลัดเลาะไปได้ ดีเอสไอจึงเก็บดีเอ็นเอผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยมีการเดินทางไปไต้หวันเก็บดีเอ็นเอเพิ่มอีก 14 คน ปรากฎว่าไม่ตรงกับดีเอ็นเอที่ขอบกางเกงของโทโมโกะ นอกจากนี้ ยังพบเบาะแสขณะเกิดเหตุมีชาวญี่ปุ่น 1 คน เดินทางกลับประเทศหลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน โดยมีการสอบปากคำไว้แล้ว แต่ไม่เคยตรวจ DNA

กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงเปลี่ยนแนวทางสืบสวนสอบสวนใหม่ และเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญ เมื่อสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ใช้วิธีใหม่และน้ำยาใหม่ชื่อ Yfiler Plus ซึ่งมีระดับความแม่นยำ 99.99% พบว่า ลักษณะพันธุกรรมที่มีเอกลักษณ์ DNA บริเวณขอบกางเกงของ “โทโมโกะ” มีลักษณะพันธุกรรมเป็นคนกลุ่มเอเชียตะวันออก และบ่งชี้เฉพาะได้ 7 ประเทศ ได้แก่ ออสโตร-เอเชียติก เอสโตเนียน ดราวิเดียน อินโด-แปซิฟิก เจแปนิส โคเรียน และไทเคได แต่ไม่มีประเทศไทย

คดีนี้ใครคือฆาตกร ยังเป็นปริศนา แต่เป็นก้าวสำคัญในการสืบสวนจากผลวิเคราะห์ DNA แม้ผู้ก่อเหตุอาจจะไม่ใช่คนไทย แต่ยังไม่ได้ตัดสินว่าเป็นคนชาติใด ซึ่งตำรวจญี่ปุ่นยินดีให้ความร่วมมือในการสืบสวนต่อไป โดยหวังว่า คำถามนี้จะได้รับคำตอบในเร็ววัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง