หมาพารอดชีวิต เรื่องจริงจากผู้ป่วยเส้นเลือดสมองโป่งพองแตก

หมาพารอดชีวิต เรื่องจริงจากผู้ป่วยเส้นเลือดสมองโป่งพองแตก

วันที่ 19 พ.ย. 2566 | 16.32 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมาเป็นสัตว์ที่รักเจ้าของมาก หมอประชาผ่าตัดสมอง เผยเรื่องจริงจากผู้ป่วยเส้นเลือดสมองโป่งพองแตก หมดสติ ล้มชักในห้องน้ำ หมาเห่าไม่หยุด จนลูก 10 ขวบ เรียกเพื่อนบ้านมาช่วยเปิดประตู พาส่ง รพ.ได้ทันเวลา ถ้าวันนั้นหมาไม่เห่า คงเสียชีวิตแล้ว

โรคหลอดเลือดสมอง วันนี้ (19 พ.ย.66) นายแพทย์ประชา กัญญาประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง ให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงโรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวานควบคุมไม่ได้ โดยครั้งนี้หมอประชาถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่หมาพาให้รอดชีวิต เคสนี้ในบ้านของผู้ป่วยอยู่ด้วยกัน 3 ชีวิต แม่ ลูก กับสุนัข 1 ตัว ซึ่งลูกยังอยู่ในวัยเด็กมีอายุเพียง 10 ขวบ

ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ลูกได้ยินเสียงสุนัขเห่าไม่หยุด โดยสุนัขยืนเห่าอยู่หน้าประตูห้องน้ำ ขณะที่แม่หายไป ประตูห้องน้ำปิดล็อกอยู่ ลูกตะโกนเรียกแม่แต่ไม่ได้ยินเสียงตอบรับ ลูกจึงโทรศัพท์ไปให้น้าข้างบ้าน ให้มาช่วยเปิดห้องน้ำ เมื่อเปิดประตูเข้าไป พบแม่กำลังนอนชักอยู่ที่พื้นห้องน้ำ จึงรีบพาส่งโรงพยาบาล แพทย์พบว่าเส้นเลือดสมองโป่ง พองแตก ทำให้ผู้ป่วยหมดสติ ล้มลง และชัก

หมอประชา เปิดเผยว่า หลังรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนทางหลอดเลือดแดง ส่วนน้ำเลี้ยงสมองที่คั่ง ใช้วิธิติดตั้งปั๊มและท่อระบาย คนไข้นอนรักษาในโรงพยาบาลนาน 3 สัปดาห์ จนอาการดีขึ้น เดินมาเล่าให้หมอฟังว่า วันนั้นถ้าหมาไม่เห่า คงเสียชีวิตไปแล้ว เพราะหมาเห่าไม่หยุดทำให้มาโรงพยาบาลทันเวลา ใส่ท่อช่วยหายใจได้ทัน ถ้าตอนนั้นหมาไม่เห่า ลูกซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง 10 ขวบ ก็คงไม่รู้ แม่คงเสียชีวิตในห้อง

“หมาเป็นสัตว์ที่รักเจ้าของมาก ขณะเกิดเหตุหมาอาจได้ยินเสียงอะไรบางอย่าง ทำให้เห่าไม่หยุดจนมีคนเข้ามาช่วยเจ้าของ”

สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และมักพบว่าผู้สูงอายุจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น หลอดเลือดจะเสื่อมสภาพและอาจมีไขมัน หินปูน มาเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้แคบลงจนเกิดเส้นเลือดตีบแข็ง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่ต้องได้รับการดูแล รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง

สามารถสังเกตอาการเบื้องต้น ดังนี้ แขน ขา ชาหรืออ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง สับสน พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง การมองเห็นลดลงหรือเห็นภาพซ้อน มีปัญหาเดินเซ มึนงง ปวดศีรษะรุนแรง ให้รีบมาพบแพทย์ด่วนที่สุด ถ้ามาเร็วภายใน 4 ชั่วโมงหลังเกิดอาการจะทำให้การรักษาได้ผลดี เพื่อรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด

ส่วนวิธีการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา ควบคุมน้ำตาล ควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง