พระธาตุโนนตาล พบรอยร้าว สำนักศิลปากรฯ เตรียมบูรณะ เตือนชาวบ้านห้ามเข้าใกล้ เสี่ยงล้ม

พระธาตุโนนตาล พบรอยร้าว สำนักศิลปากรฯ เตรียมบูรณะ เตือนชาวบ้านห้ามเข้าใกล้ เสี่ยงล้ม

View icon 58
วันที่ 21 พ.ย. 2566 | 17.11 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เลี้ยงล้ม พระธาตุโนนตาล พบรอยร้าว สำนักศิลปากรฯ นำเหล็ก-ลวดสลิง รัดรอบองค์ เตรียมบูรณะ เตือนชาวบ้านห้ามเข้าใกล้ ชาวบ้านคาดเก่าแก่ตามเวลา-รถบรรทุกหนักวิ่งจนทรุดตัว

วันนี้ (21 พ.ย.66) ความคืบหน้า กรณีชาวบ้านพบรอยร้าว องค์พระธาตุโนนตาล ซึ่งเป็นโบราณสถาน อายุเก่าแก่กว่า 121 ปี ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุ หมู่ 9 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์โบราณคู่บ้านคู่เมือง ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงวัตถุโบราณ มีความสูงประมาณ 36 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 7.50 เมตร เป็นการก่อสร้างจากอิฐถือปืน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี โดยพบว่ามีรอยร้าวทั้งองค์ คาดว่าเสื่อมสภาพตามกาลเวลา

ล่าสุด นายธนภัทร จิตสุทธิผล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมนำอุปกรณ์เหล็กแบนและลวดสลิง ดำเนินการรัดรอบองค์พระธาตุ เพื่อป้องกันรอยร้าวเพิ่มมากขึ้น และเตรียมบูรณะให้กลับมามีสภาพดังเดิม พร้อมแจ้งเตือนชาวบ้าน พุทธศาสนิกชน ห้ามเข้าในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เนื่องจากองค์พระธาตุมีโอกาสล้ม และเกิดอันตรายได้

จากการสอบถาม ชาวบ้านทราบว่า องค์พระธาตุโนนตาล เป็นการก่อสร้างของพระเกจิ และพลังศรัทธาของชาวบ้านที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือน ในพื้นที่ ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ประมาณปี 2420 จนกระทั่งมีการค้นพบซากปรักหักพัง ของพระธาตุองค์เดิม จึงร่วมกันบูรณะก่อสร้างมาถึงปัจจุบัน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นโบราณสถาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ส่วนสาเหตุการเกิดรอยร้าว มาจากสภาพเก่าแก่ตามกาลเวลา และเป็นโครงสร้างที่เป็นฐานแบบก่ออิฐถือปูน ของช่างก่อสร้างในอดีต ที่มีโอกาสทรุดตัวจนเกิดรอยร้าว อีกส่วนอาจเกิดจากทางหลวงชนบท นพ.3014 ถือเป็นเส้นเลี่ยงเมือง ที่มีรถบรรทุกหนักวิ่งจำนวนมาก และเกิดผลกระทบตามมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง