เช้าข่าว 7 สี - ใช้เวลา 2 วัน ตำรวจตามจับกุมมือปืนที่ก่อเหตุยิงนักเรียนอาชีวะ ย่านดุสิต เสียชีวิตได้แล้ว ข้อมูลยืนยันคนที่จับได้ เป็นมือปืนที่ก่อเหตุยิง ส่วนปมเหตุการลงมือ ผู้ต้องหาอ้างว่า กลุ่มผู้เสียชีวิตเริ่มลงมือทำร้ายร่างกายก่อน
เป็นภาพขณะที่ตำรวจสืบสวนนครบาล นำหมายศาลเข้าไปจับกุมตัว นายอัครพล อายุ 22 ปี ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฆ่าเยาวชนชาย อายุ 16 ปี เสียชีวิตภายในซอยระนอง 2 เขตดุสิต กรุงเทพฯ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ภายในร้านขายของชำภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 3 แยก 5 ก่อนพาตัวไปสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีพลตำรวจโท ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้สอบปากคำด้วยตัวเอง
หลังจากการสอบปากคำในเบื้องต้น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า นายอัครพล ยอมรับว่าเป็นคนที่ใช้ปืนยิงผู้เสียชีวิต ส่วนปมเหตุที่ลงมือยิง เจ้าตัวรับว่าทำไปเพราะป้องกันตัวจากกลุ่มของผู้เสียชีวิต เนื่องจากกลุ่มของตนเองถูกทำร้ายก่อน ซึ่งก่อนเกิดเหตุ ตนและเพื่อนอีก 2 คน ได้มีการดื่มน้ำกระท่อมกันมาก่อน
ส่วนคนร้ายอีก 2 คน ขณะนี้ชุดสืบสวนทราบแล้วว่าเป็นใคร และทราบแล้วว่าไปหลบหนีอยู่ที่ใด คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะสามารถตามจับกุมคนร้ายที่เหลือได้สำเร็จ
ขณะที่ครอบครัวของเยาวชนชายที่เสียชีวิต เมื่อวานได้ไปติดต่อขอรับศพที่นิติเวช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก่อนจะไปทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณที่จุดเกิดเหตุ พร้อมกับขอความเป็นส่วนตัวระหว่างการประกอบพิธี จากนั้นครอบครัวได้นำร่างของผู้เสียชีวิต ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพรหมวงศาราม ซอยประชาสงเคราะห์ 27 แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพฯ
แม่ของผู้เสียชีวิต พูดทั้งน้ำตาสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตนเองหัวใจสลาย เช้าก่อนวันที่ลูกจะออกไปเรียน ได้เข้ามากอดแล้วบอกว่ารักแม่นะ ก็ไม่คิดว่าจะเป็นกอดสุดท้าย เรื่องที่ผู้ต้องหาติดต่อจะมอบตัว มอบว่าเป็นสิ่งที่ถูก หากกล้าทำก็ต้องกล้ารับ
ส่วนลูกพี่ลูกน้องผู้เสียชีวิต บอกว่า ดูภาพวงจรปิดแล้ว ค่อนข้างเชื่อว่าคนร้ายจงใจก่อเหตุยิงผู้เสียชีวิต มีการเตรียมการเป็นอย่างดี ดูลาดเลาล่วงหน้า 2-3 วัน ก่อนลงมือ ที่ผ่านมาผู้เสียชีวิตไม่เคยเล่าเกี่ยวกับเรื่องสถาบันให้ฟัง เคยได้ยินแค่ว่าเป็นคนเรียนดี รักเพื่อน มีความฝันว่าอยากทำอาชีพรับราชการที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เรื่องที่เกิดขึ้นก็อยากให้ผู้ตายได้รับความเป็นธรรม
ขณะที่ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ย้ำถึงมาตรการที่เคยสั่งให้ตำรวจ วางแนวทางแก้ไขปัญหาเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มวัยรุ่น ว่าได้กำชับให้ทุกพื้นที่ทำงานเชิงรุก จำทำแผน สำรวจรายชื่อผู้ที่มีแนวโน้มก่อเหตุ หรือใช้ความรุนแรง รวมถึงทำแผนผังความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษา ส่วนเรื่องที่เคยคาดโทษตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ จะพิจารณาว่า เมื่อสั่งการไปแล้ว มีความกระตือรือร้นในการทำแผนป้องกันรับมือแค่ไหน หากไม่กระตือรือร้นก็ต้องพิจารณาโทษทางวินัย และการจะแก้ไขปัญหานี้ ตำรวจไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอาชีวะ, กระทรวงศึกษาธิการ