อ.เจษฎา แจง ในเครื่องดื่มน้ำตาล 0%  ทำเสี่ยงหัวใจวาย อัมพฤกษ์

อ.เจษฎา แจง ในเครื่องดื่มน้ำตาล 0% ทำเสี่ยงหัวใจวาย อัมพฤกษ์

View icon 72
วันที่ 22 พ.ย. 2566 | 13.35 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รศ.ดร.เจษฎา คลายกังวลคนชอบดื่มเครื่องดื่มน้ำตาล 0% ชี้แจงเพิ่ม แค่สารชื่อ erythritol ตัวเดียวที่อาจเสี่ยงโรคหัวใจวาย อัมพฤกษ์

จากกรณีที่ น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องสารให้ความหวานในเครื่องดื่มไร้น้ำตาล ที่ชื่อว่า erythritol (อีริทริออล) ทำเสี่ยงหัวใจวาย อัมพฤกษ์

ทำให้ผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มไร้น้ำตาล เครื่องดื่มน้ำตาล 0% เกิดความวิตกกังวล ว่าที่ดื่มมาตลอดอาจทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้

ล่าสุดวันนี้ (22 พ.ย.66) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาคลายความกังวล  มีใจความว่า อย่าพึ่งแตกตื่นตกใจ โดยเฉพาะคนที่นิยมดื่มเครื่องดื่มไร้น้ำตาล บริโภคอาหารขนมไร้น้ำตาล เพราะจริง ๆ แล้วอาจารย์หมอพูดถึงแค่เฉพาะสารที่ชื่อว่า erythritol อีรีทริออล เพียงแค่ตัวเดียว ซึ่งสารอีรีทริออล นี้มักจะใช้ในอาหารและเครื่องดื่มของคนที่บริโภคอาหาร "คีโต" และไม่ใช่พวกสารให้ความหวานชนิด aspartame แอสปาร์แตม หรือ sucralose ซูคราโลส ที่นิยมใช้กันในบ้านเรา

แต่การบอกถึง "ความสัมพันธ์"  ไม่ได้แปลว่าสารนี้จะเป็น "สาเหตุ" ของโรคเพราะถ้าคนที่มีความเสี่ยงจะป่วยเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมองอยู่แล้ว และได้รับการแนะนำให้กินอาหารไร้น้ำตาลเป็นประจำเพื่อให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ก็ไม่แปลกอะไรที่จะพบว่า คนกลุ่มที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณสารในเลือดสูงตามไปด้วย

รศ.ดร.เจษฎา บอกอีกว่า ถ้าสรุปสั้น ๆ ก็คือ สำหรับคนทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรงดี สารอิริทริทอลสามารถนำมาใช้บริโภคแทนน้ำตาลได้ แต่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มที่มีความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในสมองอักเสบ ถ้ากังวล ก็ควรพิจารณาเปลี่ยนไปใช้สารให้ความหวานตัวอื่นไปก่อน

การรับประทานอิริทริทอลให้เหมาะสม

- ใช้ผสมในอาหารแทนการใช้น้ำตาลทราย คนทั่วไปสามารถรับประทานอิริทริทอลได้อย่างปลอดภัย โดยในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ในแต่ละวัน
- แต่ปริมาณที่คนส่วนใหญ่รับประทานอิริทริทอล แล้วมักไม่มีอาการข้างเคียง อยู่ที่ไม่เกิน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม ไม่ควรรับประทานอิริทริทอลเกิน 68 กรัม หรือประมาณ 13 ช้อนชาต่อวัน

คณะกรรมการความปลอดภัยทางอาหารของยุโรป แนะนำไว้ว่า ไม่ควรมีอิริทริทอลอยู่ในอาหารหรือเครื่องดื่มเกิน 0.6 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อความปลอดภัยของเด็กในการบริโภค

- อิริทริทอลมีค่าดัชนีน้ำตาล (GI หรือ glycemic index) เท่ากับ 0  คือไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นหลังรับประทาน จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อย่างผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes) และเบาหวาน (diabetes) และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก เกินไป เพราะอาจทำให้บางคนท้องเสีย

ข้อควรระวังในการรับประทานอิริทริทอล

- การได้รับอิริทริทอลในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้บางคนเกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่นเดียวกับน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ถ่ายบ่อยกว่าปกติ หรือทำให้เกิดอาการของโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome) โรคโครห์น (Crohn's disease) และโรคลำไส้อักเสบ (ulcerative colitis) แย่ลง
- ผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตรสามารถรับประทานอิริทริทอลได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ อาจเกิดผื่นแดงคัน ปากและใบหน้าบวม หายใจลำบาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง