พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี

View icon 302
วันที่ 29 พ.ย. 2566 | 20.03 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 16.10 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ทรงเปิดอาคารกิติยาคาร ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาอาคาร สถานที่ และลักษณะทางกายภาพ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา โดยมีนโยบายในการสร้างอาคารบรรยายรวมและหอประชุมใหญ่ จึงได้ปรับปรุงอาคารยิมเนเซียม 2 เป็นอาคารกิติยาคาร โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้พระราชทานนามว่า "อาคารกิติยาคาร"

สำหรับอาคารแห่งนี้ จัดสร้างขึ้นจาก 2 แนวคิดหลักคือ "ความยั่งยืน" และ "ความยุติธรรม" ความสูง 4 ชั้น ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ อาทิ พื้นที่ภายในอาคารบริเวณด้านหน้าทางเข้าหลัก จัดแสดงนิทรรศการถาวร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะทรงเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หอประชุมใหญ่ ขนาด 3,500 ที่นั่ง, หอดนตรี ขนาด 180 ที่นั่ง, ห้องจัดเลี้ยงอเนกประสงค์ ขนาด 180 ที่นั่ง, ห้องประชุมสัมมนาขนาด 40-45 ที่นั่ง และห้อง Active-Learning นอกจากนี้ ยังได้ก่อสร้างอาคารใหม่ต่อเนื่องจากอาคารหอประชุมใหญ่ ความสูง 3 ชั้น สำหรับใช้เป็นโรงละครของคณะศิลปกรรมศาสตร์ และลานกิจกรรมของนักศึกษา

ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "ธรรมประภา" เป็นนิทรรศการถาวรเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทรงงานด้านการยุติธรรม, การช่วยเหลือผู้ต้องหาให้เข้าถึงหลักนิติธรรม, การพัฒนาคุณภาพชีวิตของอดีตผู้ต้องขังหญิง, โครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ ยังจัดแสดงกิจกรรมเมื่อครั้งทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมอาคารกิติยาคาร ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564

โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ความว่า

ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความยินดี ที่ได้มามอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จความเป็นบัณฑิตนั้น นับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงควรที่จะรักษาและเชิดชูไว้ด้วยดี การที่จะรักษาเกียรติแห่งความเป็นบัณฑิตไว้ให้ได้ คงไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่าการนำความรู้ ความสามารถ คุณธรรมความดี และคุณสมบัติทั้งปวงที่มีอยู่ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงาน เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง แก่ส่วนรวม และชาติบ้านเมือง จึงขอให้บัณฑิตทุกคน เห็นคุณค่าแห่งความเป็นบัณฑิตของตน แล้วตั้งใจปฏิบัติการทุกอย่างให้สมกับคุณค่าและเกียรติทั้งนั้นเสมอไป ข้าพเจ้าขอมอบปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไปขออำนวยพรให้ทุกคนประสบความสุข พร้อมทั้ง ความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ

ภายหลังพระราชทานพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเคมี แด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติถวายด้วยประจักษ์ถึงพระปรีสามารถด้านการวิจัยทางเคมี วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ โดยทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ตลอดจนทรงก่อตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางตรวจวิจัยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคระบบประสาทและสมอง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยแก่ราษฎร รวมทั้งก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนเพื่อสร้างบัณฑิตและบุคลากรด้านการแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญ มีจิตอาสา พร้อมบริการสังคม รวมทั้ง ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วย

จากนั้น พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน แล้วพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์, วิทยาลัยนวัตกรรม, คณะเศรษฐศาสตร์, วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, วิทยาลัยสหวิทยาการ, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์, คณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร รวม 2,067 คน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งสู่วิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชนอันหมายถึงการเป็นสถาบันวิชาการที่จัดการเรียนการสอน สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้ง ให้บริการวิชาการและบริการสุขภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชนด้วยคุณภาพสูงในระดับสากล

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง