งบ 67 ไร้เงา “ดิจิทัล วอลเล็ต”

งบ 67 ไร้เงา “ดิจิทัล วอลเล็ต”

View icon 46
วันที่ 30 พ.ย. 2566 | 14.27 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“ไหม ศิริกัญญา” เกาะติดงบ 67 ยังไร้เงา “ดิจิทัล วอลเล็ต” ส่วนกระทรวงมหาดไทย ได้งบเยอะสุด 3.53 แสนล้านบาท กกต. ได้เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ลุ้นใช้ทำประชามติหรือไม่

วันนี้ (30พ.ย.66) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชันเอ็กซ์ ระบุ จากการปรับปรุงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต  ส่วนกระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุด 3.53 แสนล้านบาท แซงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท จึงต้องติดตามว่า จะเป็นเงินเพื่อใช้ในการทำประชามติหรือไม่  โดยใจความสำคัญของโพสต์ดังกล่าว มีดังนี้

“หลังจากมีการปรับปรุงงบปี 67 ล่าสุด (28 พ.ย. 66)  พบว่ามีการเพิ่มงบกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาเพียง 15,000 ล้านบาท และเพิ่มงบกองทุน SME อีก 5,000 ล้านบาท โดยไปปรับลดงบส่วนของรัฐวิสาหกิจลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบสำหรับชำระหนี้ม. 28 ของ ธกส. ยังไม่มีงบของดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนเดิม

ปีนี้งบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เกือบ 3 แสนล้าน แถมยังเป็นปีที่จัดงบ 2 รอบ งบ 67 เศรษฐา vs. งบ 67 ประยุทธ์ ต่างกัน 1.3 แสนล้านบาท แต่เราอาจจะไม่เห็นว่างบแต่ละกระทรวงเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะมีเงินก้อนใหญ่ที่ต้องใช้คืนเงินคงคลังสูงถึง 1.18 แสนล้านบาท เงินคงคลังที่ใช้ไปแล้วต้องเอามาคืนมากขนาดนี้ ก็มาจากงบเงินเดือน งบบำนาญ งบรักษาพยาบาล ที่ตั้งงบไว้ไม่พอจ่ายในปีงบก่อนหน้า (ปี 65 และ66) นั่นเอง

5 อันดับกระทรวงที่งบเยอะสุด

อันดับ 1 กระทรวงมหาดไทย 3.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% ปีนี้ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แซงกระทรวงศึกษาฯเรียบร้อยแล้ว งบที่เพิ่มนอกจากจะมาจากเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเงินเดือนอบต.ที่เพิ่มสมัยประยุทธ์แล้ว ยังมาจากงบท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นตามประมาณการรายได้ แต่ยังคงไปไม่ถึงเป้าหมาย 35% ของรายได้ ปี 67 นี้รัฐบาลจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่น 29% ของรายได้รัฐสุทธิเท่านั้นต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่สำคัญยังคงไม่มีการชดเชยภาษีที่ดินให้กับอปท.

อันดับ 2 กระทรวงศึกษา 3.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นแค่ 0.3% ตกลงจากอันดับ 1 ตลอดกาล เรายังไปเจออีกว่า ตอนที่ประยุทธ์ทำงบ 67 กระทรวงศึกษาได้งบมากกว่านี้ 2 พันล้านบาท ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ ที่มีการปรับเพิ่มเงินรายหัว  และคงต้องตามต่อว่างบแทบเล็ต ที่ถูกเปลี่ยนเป็นโน้ตบุ๊กจะเป็นเท่าไหร่ จะเป็นการเช่าหรือเป็นการซื้อ

อันดับ 3 กระทรวงการคลัง 3.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 15%! แต่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะส่วนใหญ่เป็นงบใช้หนี้ส่วนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ราว 3.8 หมื่นล้าน อีกส่วนที่เพิ่มมาเยอะ คือ กรมสรรพสามิต ภายใต้แผนบูรณาการอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต 3,000 ล้านบาท น่าจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม 1.98 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2% หรือเกือบ 4 พันล้าน โดยงบที่เพิ่มเกือบครึ่งเป็นเงินเดือน  ที่เหลือถึงจะเป็นงบที่น่าตื่นเต้นว่าปีนี้จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ อะไรมาให้เราได้ตรวจสอบ เมื่อเรือดำน้ำจมไปแล้ว F-35 อเมริกาเค้าก็ไม่ขายให้แล้ว

อันดับ 5 กระทรวงคมนาคม 1.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% หรือ 3 พันล้าน ซึ่งก็ปรับขึ้นพอๆ กับที่ประยุทธ์ทำงบ จึงน่าสนใจว่าแล้วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะได้ขยายเพิ่มไปที่สายสีอื่นอีกมั้ย ถ้าไม่ได้ตั้งเงินอุดหนุนเอาไว้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น งบกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกหั่นจากยุคประยุทธ์ลงมา 4.6 พันล้าน แถมยังมีดราม่าตัดงบถึงขั้นที่รมต.สธ.ขอถอนเรื่องจากครม.มาแล้ว

งบกลาง ส่วนเงินสำรองปีนี้มากกว่าปี 66 ถึง 6,000 ล้าน อยู่ที่ 9.85 แสนล้าน คาดว่าจะเป็นการตั้งไว้สำหรับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ (แต่จะพอหรือไม่?)

งบกระทรวงดิจิทัลพุ่งขึ้นมา 30% โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ Depa ได้งบเพิ่ม 2 เท่า  สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้งบเพิ่ม 50% งบ Soft power จะอยู่ที่นี่หรือไม่  กกต.ได้งบเพิ่มพันกว่าล้าน จะเป็นงบประชามติรึเปล่า ติดตามรายละเอียดได้ปลายเดือนธ.ค.นี้ค่ะ”