“วิษณุ” มาแล้ว! แนะการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท แบบไม่ถูกดำเนินคดีย้อนหลัง

“วิษณุ” มาแล้ว! แนะการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท แบบไม่ถูกดำเนินคดีย้อนหลัง

View icon 62
วันที่ 6 ธ.ค. 2566 | 15.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
"วิษณุ" เตือน หากรัฐบาลส่งเฉพาะร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5แสนล้านบาท ระวังเจอคดีตามหลัง แนะควรส่งคำถามกฤษฎีกาก่อนว่าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5แสนล้านได้หรือไม่ เชื่อใช้เวลาไม่นานทันเดือน พ.ค. ปีหน้าแน่นอน 

วันนี้ (6 ธ.ค.66) นายวิษณุ เครืองาม คณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมถามกฤษฎีกา ถึงการออกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ว่า เป็นเรื่องที่ตอนนี้ยังตอบไม่ถูกและไม่มีใครตอบถูก เพราะรัฐบาลยังไม่ได้สอบถามมา จึงไม่ทราบว่าจะถามว่าอย่างไร และหากส่งมาแล้ว ก็มี2ทางเลือก คือนำเข้าคณะทำงานที่ชำนาญด้านนี้ ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน เพราะเป็นคนร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งอาจจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่า และตนไม่ได้อยู่คณะนี้ หรืออาจจะนำเข้าคณะพิเศษ ดึงคนที่มีความชำนาญด้านต่างๆ เพราะ มองแล้วไม่ใช่มิติด้านกฎหมายการเงินการคลังเพียงอย่างเดียว แต่มีกฎหมายเรื่องเงินคงคลัง กฎหมายวิธีการงบประมาณ และกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยความสามารถของกรรมการ หลายคณะ

นายวิษณุ ระบุ ทางออกที่ดี ควรส่งคำถามเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกควรถามว่า รัฐบาลประสบปัญหาวิกฤต ประเทศชาติมีวิกฤต และ รัฐบาลคิดว่าจะทำอย่างนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ถูกขอให้ช่วยแนะนำว่าควรทำอย่างไร ถึงจะทำได้เพื่อช่วยแก้วิกฤต ซึ่งหากกฤษฎีกาตอบมาว่า ออกร่างกฎหมายกู้เงินได้ก็ค่อยส่ง ร่างกฎหมายไป รอบที่ 2 ไม่ใช่อยู่ดีๆแล้วส่งร่างกฎหมายกู้เงินไปเลย เพราะถ้าทำเช่นนี้ก็จะตรวจสอบได้เฉพาะว่าร่างกฎหมายนี้ถูกต้องตามกฎหมายวินัยการเงินกันคลังหรือไม่ และถ้อยคำ ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะไม่ได้คำตอบที่ต้องการและวันหนึ่งจะมีคดีไปถึงศาลอีกอยู่ดี ดังนั้นจึงควรถาม 2 รอบ หากถามเร็วก็ตอบเร็ว เชื่อว่าทันเดือนพฤษภาคม 2567 อย่างแน่นอน

ส่วนเงื่อนเวลาในการพิจารณานั้น นายวิษณุกล่าวว่า หากส่งคำถามแรกไปขั้นตอนการตอบอาจจะช้า กว่าคำถามที่ 2 ซึ่งหากเร่งพิจารณาทุกวัน ก็น่าจะเสร็จเร็ว ส่วนคำถามที่ 2 นั้นจะสามารถตอบได้เร็วมาก เพราะมีการตอบคำถามแรกไปแล้ว เช่นถ้ากฤษฎีกาตอบว่าออกเป็นร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน ก็แสดงว่าออกได้ เมื่อส่งร่างพ.ร.บ.ไปก็แค่ตรวจถ้อยคำ ส่วนเรื่องที่ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ถือว่าผ่านขั้นตอนการพิจารณามาในคำถามแรกไปแล้ว

ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ชินกับการตอบคำถามเหมือนศาล ที่ถามแค่ไหนก็ตอบแค่นั้น โดยหลายเรื่องที่ถาม กฤษฎีกาไปว่าทำได้หรือไม่กฤษฎีกาก็ตอบ แค่ว่าได้หรือไม่ได้ แต่ไม่เคยตอบว่า ถ้าไม่ได้จะต้องทำอย่างไร จะไม่มีการชี้ช่องให้ ดังนั้นการจะถามคำถามไปยังกฤษฎีกา ควรถามให้กว้างถ้าส่งร่างพระราชบัญญัติไปรอบเดียวเขาจะตีความในมิติที่แคบ ถามช้างก็ตอบช้างไม่ได้ตอบม้า แต่ถ้าถามไปว่าจะช้างหรือม้าหรือวัวหรือควายดีเขาก็จะได้ตอบให้

ส่วนถ้าส่งร่างพระราชบัญญัติไปถามเลยจะทำให้มีคดีความตามมาหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะที่ขู่ ก็ไม่ ได้หมายความว่าจะถูกต้องเสมอไป ขณะนี้ต่างคนต่างไม่รู้ทั้งนั้น ว่าในตอนนี้รัฐบาลจะสอบถามกฤษฎีกาว่าอย่างไร

สำหรับกรณีที่สอบถาม ว่าประเทศวิกฤต จะออก ได้เป็นพระราชกำหนดเท่านั้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อันดับแรกคนที่จะตัดสินว่าประเทศวิกฤตหรือไม่คือรัฐบาล และการที่จะออกเป็นพระราชกำหนด แบ่งได้เป็น 2 วรรค คือ วรรคแรกกรณีที่วิกฤตฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ให้ออกเป็นพระราชกำหนดได้ และอีกวรรคหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน ต้องเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคง ทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงทางการเมือง ซึ่ง ในประเด็นแรก เรื่องวิกฤตหรือไม่ฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่  ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ วินิจฉัย แต่เรื่องนี้จำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมืองหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ได้ ดังนั้นหากเกิดวิกฤตไม่ถึงขนาดไฟลนก้น เพียงแต่เหมือนวิกฤตมาแล้วหลายเดือนและมีแนวโน้มว่าจะวิกฤตต่อก็ออกเป็นพระราชบัญญัติได้ แต่ปัญหา มีอยู่ว่า การออกพระราชบัญญัติกู้เงินมาช่วยประชาชน วิกฤตหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง และเข้าใจว่า ในมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ บัญญัติไว้ว่า รัฐจะไปจ่ายเงิน เพื่อประชานิยมไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่จะต้องตอบ และจะไปสัมพันธ์กับเรื่องที่ ไม่ตรงปก ตอนที่หาเสียง พูดเอาไว้อย่างไรก็เกี่ยวโยงกับกฎหมายเลือกตั้งด้วย

เมื่อถามย้ำว่าการออกเป็นพ.ร.บ. กู้เงินจะต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลรู้อยู่แล้วไม่ต้องบอกผ่านสื่อ เพราะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แต่ขอย้ำว่าถ้าถามกฤษฎีกาไป 2 ท่อน 2 ตอนอย่างที่เสนอ ก็คง ไม่ต้องมาถามคำถามนี้ โดยเฉพาะต้องขมวดคำถามว่า ทั้งหมดถ้าทำไม่ได้ต้องทำอย่างไร เช่นถ้าบอกว่าให้ใช้งบประมาณ ก็ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินการออกเป็น พ.ร.บ. กู้เงินก็ถือว่าเสี่ยง

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการออกพ.ร.บ.เงินกู้เป็นทางลงของรัฐบาล นายวิษณุ กล่าวว่าตนไม่ทราบเพราะยังไม่เห็นทางขึ้น จึงไม่ทราบว่าทางลงเป็นอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง