ข่าวใหญ่ : ไหวไหม แก้หนี้ครัวเรือนกว่า 16 ล้านล้านบาท

View icon 102
วันที่ 12 ธ.ค. 2566 | 11.22 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เข้าสู่วันที่ 12 ของการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ 11 วันที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนแก้หนี้กว่า 86,000 คน วันนี้ถึงคิวแก้หนี้ในระบบ ช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรีจะแถลงรายละเอียด เรารวบรวม สารพัดปัญหาทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ รวมทั้งมุมมองการแก้หนี้ ว่ากันว่าต้องไปแก้กันที่ต้นตอ ปัญหาถึงจะหมดสิ้น

มาดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย ปัจจุบันพุ่งมาอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาทแล้ว แบ่งเป็นหนี้นอกระบบที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหา ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ลงทะเบียนขอแก้หนี้ ว่ากันว่าหนี้ก้อนนี้ ที่สำรวจได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

ขณะนี้การลงทะเบียนก้าวสู่วันที่ 12 ด้วยการให้ลูกหนี้เข้าลงทะเบียนขอแก้หนี้ ยอดล่าสุดมีผู้ลงทะเบียแล้วกว่า 86,000 คน คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4,570 ล้านบาท บรรดากูรูด้านเศรษฐกิจ มองว่า ปัญหาหนี้เหมือนระเบิดเวลาลูกโตทางเศรษฐกิจ หากไม่เร่งแก้หนี้ครัวเรือนอาจไม่หยุดแค่ 16 ล้านล้านบาท กลายเป็นจุดบั่นทอนเศรษฐกิจไทย และบั่นทอนคุณภาพสังคม

คราวนี้มาดูพฤติกรรมการก่อหนี้ ก็นานาทัศนะ บางคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เงินขาดมือก็ต้องหยิบยืม บางคนประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ บางคนค้าขายขาดทุน ทำให้ต้องกู้หนี้ หลายคนพยายามเข้าสู่ขั้นตอนกู้หนี้ในระบบ แต่ก็ไม่พ้นปัญหา อย่างกลุ่มลูกหนี้ประมาณ 60 คน เค้าออกมาเรียกร้อง บอกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญากู้เงินจากบริษัทสินเชื่อชื่อดัง บริษัทในเครือศรีสวัสดิ์ และเข้าร้องต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค

ข้อเรียกร้องของลูกหนี้ แบ่งเป็น 6 ประเด็น เช่น บริษัทฯ ไม่ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับให้กับลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่ทราบรายละเอียดการผ่อนชำระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าปรับ มีเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด, ผู้กู้ได้รับเงินกู้ไม่ครบตามจำนวนที่ขอสินเชื่อ และมีการทำสัญญาไม่เป็นธรรม คือ กำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระเงินให้ครบใน 12 เดือน หากชำระไม่ได้ จะให้ทำสัญญาใหม่ และเรียกค่าธรรมเนียมอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผู้กู้เป็นหนี้เกินจริง ในลักษณะนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่า ปัญหาหลัก ๆ มาจากการเข้าถึงสินเชื่อ และการกำหนดกฎเกณฑ์ รวมทั้งการดูแลผู้ปล่อยกู้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ผู้บริหาร ของบริษัทศรีสวัสดิ์ ซึ่งชี้แจงว่า บริษัทยินดีรับข้อคิดเห็นไปพิจารณา แก้ไขปัญหา และปรับปรุงกระบวนการให้กู้เงิน ของบริษัทลูก รวมทั้งลงโทษพนักงานที่หละหลวมเรื่องเอกสาร พร้อมเผยปัญหาหนี้ เป็นปัญหาหนักใจ ไม่เฉพาะลูกหนี้ เจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อก็มีปัญหา เก็บหนี้ยาก ลูกหนี้กู้ไปแล้วไปเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ย้ายที่อยู่ บางคน ไปแจ้ง โฉนดหาย ก่อนจะนำมาค้ำประกันสินเชื่อ พอมีปัญหา โฉนดในมือบริษัท กลับกลายเป็นโมฆะ ก็อยากให้ลูกหนี้ เห็นใจเจ้าหนี้บ้าง เชื่อว่า เจ้าหนี้ทุกรายพร้อมไกล่เกลี่ย

การแก้หนี้ ไม่ใช่เพียงการปรับโครงสร้างหนี้ หรือ ดึงหนี้นอกระบบ เข้ามาสู่หนี้ในระบบ ซึ่งวันนี้ นายเศรษา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะแถลงรายละเอียดด้วยตัวเองในช่วงบ่าย หลังเลิก ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่ากันว่า จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการ SME รหัส 21 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสบวิกฤตโควิด19 กลุ่มมีประมาณ 50,000-60,000 ล้านราย โดยอาจจะพักชำระหนี้ ให้ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ยให้เป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งอีกกลุ่มคือลูกหนี้สินเชื่อโควิด19 ที่คราวนั้นปล่อยกู้รายละ 10,000 บาท หลายคนนึกว่าเงินแจกฟรี รับไปแล้วไม่ชำระ กลายเป็นหนี้เสีย

ซึ่งอย่างไรต้องติดตามรายละเอียดแนวทางการแก้หนี้กันอีกครั้ง แต่จะแก้ได้จริง ต้องแก้ที่ต้นตอก่อหนี้ ด้วยการเร่งสร้างความสมดุลรายได้ รายจ่าย และต้องให้ความรู้และวินัยทางการเงิน ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง