เคสยาก วัณโรคไขสันหลัง อจ.หมอสุรัตน์เตือนวัณโรคยังวนเวียน

เคสยาก วัณโรคไขสันหลัง อจ.หมอสุรัตน์เตือนวัณโรคยังวนเวียน

View icon 104
วันที่ 14 ธ.ค. 2566 | 11.35 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วัณโรคไขสันหลัง เดินไม่ได้ เคสยากต้องรีบรักษา อจ.หมอสุรัตน์เตือนวัณโรคยังวนเวียน อาการแปลกๆ ไม่น่าไว้ใจควรมาพบแพทย์

วัณโรค วันนี้ (14 ธ.ค.66) ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเพจสาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ โดยยกเป็นอุทาหรณ์สำหรับโรควัณโรค โรคติดต่อที่ยังพบในประเทศไทย อาจารย์หมอสุรัตน์ บอกว่า ราวคนไข้ วันนี้แปลก พบคนไข้ป่วยเป็นวัณโรค ถึง 2 คน คนหนึ่ง  วัณโรคลงปอด เหนื่อยมาก หยุดหายใจ ต้องปั๊มหัวใจ หลังปั๊มหัวใจ ผู้ป่วยชักไม่หยุดจากสมองขาดเลือด

ส่วนผู้ป่วยวัณโรคอีกคน เป็นชายไทย อายุมาก ปัสสาวะไม่ออก ไม่ได้เป็นต่อมลูกหมากโต จากนั้นมีอาการอ่อนชา อาการชาลามมาถึงสะดือ เอกซเรย์ และทำ MRI เจอวัณโรคเยื่อหุ้มสันหลัง แล้วทำให้สันหลังอักเสบ ภาพเอกซเรย์พบขาวยาวเป็นปื้น ลากลงมา เดินไม่ได้เลย ครึ่งท่อน  ซึ่งเป็นเคสยาก ต้องรีบจัดการเจาะน้ำไขสันหลังตรวจ และให้ยารักษาวัณโรค

อาจารย์หมอสุรัตน์ ยกเป็นอุทาหรณ์ ดังนี้

1.วัณโรค เหมือนโรคโบราณ แต่มันไม่หายไปไหน ยังวนเวียน
2. มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค แล้วมีอาการไอรื้อรัง น้ำหนักลด เหงื่อออกกลางคืน ให้ระวังป่วยวัณโรค รีบเอกซเรย์ปอด
3. ฉี่ไม่ออก ฉี่สะดุด มีอาการชา ระวังโรคไขสันหลังอักเสบ ต้องรีบรักษา ช้าก็อัมพาตได้ หากรักษาไวฟื้นตัวได้
4. อาการแปลกๆ ไม่น่าไว้ใจ ให้มาพบแพทย์เฉพาะทาง

657a87fa188f00.07886986.jpg

สำหรับวัณโรคกระดูก กรมการแพทย์ให้ข้อมูลว่า คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า วัณโรคกระดูก แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นอีกโรคที่พบบ่อยในคนไทยและสามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ จากการสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคที่ไอ จาม หรือหายใจรด หรืออาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร และภาชนะใส่อาหารที่มีเชื้อวัณโรคปนเปื้อน

วัณโรคกระดูกเกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายทางปอด เมื่อปอดติดเชื้อ จะทำให้เกิดวัณโรคปอด ทั้งนี้เชื้อดังกล่าวจะซึมผ่านกระแสเลือดแล้วลุกลามเข้าทำลายอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ไต รวมทั้งกระดูก เมื่อเข้าทำลายกระดูกจึงเรียกว่าวัณโรคกระดูก ซึ่งเชื้อจะทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ มีหนองหรือเศษกระดูก หมอนรองกระดูกเคลื่อน และเมื่อเข้าสู่ไขสันหลังจะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลังทำให้เป็นอัมพาตที่ขาได้

สำหรับอาการของวัณโรคกระดูกในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก จะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว จนกระทั่งผ่านไป 1 เดือน อาการปวดจะชัดเจนขึ้น อาจมีไข้ต่ำๆ ในตอนเย็น ร่วมกับเบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจคิดว่าเป็นอาการปวดหลังธรรมดา หากปล่อยไว้นานจะทำให้กระดูกสันหลังโก่งงอ เพราะเชื้อไปทำลายกระดูก ถ้าหากมีการกดทับระบบประสาทจะทำให้ขาชา อุจจาระ ปัสสาวะลำบาก ต่อมน้ำเหลืองโต เดินกะเผลก ซึ่งตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อสันหลัง ข้อต่อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ กระดูกสันหลังส่วนเอว

การวินิจฉัยว่าจะเป็นวัณโรคกระดูก สามารถตรวจทางรังสี เพื่อดูว่ากระดูกถูกทำลาย มีการโก่งตัวร่วมด้วย หรือหมอนรองกระดูกแคบลงซึ่งเป็นสัญญาณว่าเชื้อวัณโรคกำลังทำลายกระดูกสันหลัง การตรวจด้วยซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อดูว่ามีหนองและการทำลายกระดูกสันหลังหรือไม่ สำหรับการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อวัณโรคป้องกันไม่ให้มีการกดทับระบบประสาท รวมทั้งป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังผิดรูปได้ ให้ยาต้านวัณโรคกระดูกและข้อในรายที่มีอาการไม่มาก ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง และในกรณีที่เป็นมากแล้ว การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลจะใช้วิธีผ่าตัดรักษา

ทั้งนี้วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากวัณโรคกระดูก คือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง พยายามอยู่ในที่ปลอดโปร่ง หายใจสะดวก หากไอหรือจามควรใช้ผ้าหรือกระดาษปิดปาก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายและทิ้งกระดาษลงในถังขยะที่มีฝาปิดให้เรียบร้อย ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง