หมอธีระวัฒน์เผยผลวิจัย พริกลดความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน

หมอธีระวัฒน์เผยผลวิจัย พริกลดความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน

View icon 567
วันที่ 19 ธ.ค. 2566 | 12.53 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมอธีระวัฒน์เผยผลวิจัย พริกลดความเสี่ยงโรคพาร์กินสันได้ถึง 30% เพียงแค่กินพริกก็ช่วยสมองได้ ทั้งป้องกันและชะลอโรค

วันนี้ (19 ธ.ค.66) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เพียงแค่กินพริกก็ช่วยสมองได้” โดยเรื่องของพริกน่าจะต้องย้อนกลับไปถึง ตำนานของบุหรี่ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ประหลาด ที่สังเกตว่าคนสูบบุหรี่แม้จะตายยับจมะเร็ง ป่วยหลอดลม ถุงลมและโรคอื่นมหาศาล กลับมีโรคทางสมองเสื่อมน้อยกว่าและดูจะค่อยๆรุนแรงอย่างช้าๆ แต่เผอิญตายก่อนที่จะติดตามได้ชัดเจนเพราะโทษและพิษภัยของบุหรี่ เป็นที่มาในการตั้งสมมุติฐานว่าในบุหรี่อาจมีสารบางอย่างที่ช่วยปกป้องสมอง

ยกตัวอย่างเช่น นิโคติน และมีศึกษาติดตามระยะยาวของคนที่กินพริก รายงานในวารสารประสาทวิทยา (Annals of neurology) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 พบว่า การกินพริก (ไม่ใช่พริกไทย) ทำให้ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสัน พริกอยู่ในตระกูล Solanaceae (capsicum และ solanum) เช่นเดียวกับยาสูบ มีหลักฐานมากมายมหาศาลไม่ต่ำกว่า 60 รายงาน ที่พบว่าคนสูบบุหรี่มีโอกาสเป็นพาร์กินสันน้อยลง แต่ไม่มีใครอยากตายจากมะเร็ง โรคปอดจากการสูบบุหรี่

รายงานนี้จับประเด็นตรงที่พริกมีปริมาณนิโคติน สูง ดังนั้น อาจจะให้ผลเหมือนกับการสูบบุหรี่ จากการประเมินผู้ป่วยพาร์กินสัน 490 คน เทียบกันคนปกติ 644 คน เกี่ยวกับการรับประทานอาหารและชนิดของเครื่องปรุง พบว่าคนที่บริโภคพืชที่อยู่ในตระกูล Solanaceae สัมพันธ์กับการไม่เกิดโรคพาร์กินสัน แต่ชนิดของอาหารที่สำคัญที่สุดคือพริก และลดความเสี่ยงได้ถึง 30% แม้แต่มะเขือเทศจะอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ประโยชน์ที่ได้ดูจะน้อยกว่าพริก อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่านิโคตินอย่างเดียวหรือมีสารอื่นๆ ในพริกที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพาร์กินสัน

ข้อความตอนหนึ่ง หมอธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่และอัลไซเมอร์ ดูคล้องจองกับอีกหนึ่งรายงานในโรคพาร์กินสันเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่าบุหรี่ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ 40% อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยรวมทั้งหมอทั่วโลกและตัวหมอเอง ยืนยันว่า บุหรี่ไม่ใช่ทางออก ทางเลือกแม้การสูบบุหรี่ดูเหมือนจะทำให้สมองที่พังแล้วยังดูทนทานและคล้ายกับสมองยังดีได้ แต่ผลกระทบกลับมากมาย และคนสูบบุหรี่ที่ยังรอดชีวิตอยู่ดังในรายงานนี้น่าจะไม่ได้มีมากนัก ในประชากรทั่วไป

ขณะที่พริกซึ่งมีปริมาณนิโคตินอยู่บ้าง ที่ไม่เป็นอันตรายกลับได้ผลเช่นกันในโรคพาร์กินสัน ทั้งนี้เนื่องจากกลไกของการเกิดสมองเสื่อมทั้งสองโรค คล้ายกันด้วยการก่อตัวของโปรตีนพิษบิดเกลียว ดังนั้นการกินพริกหยวก พริกตุ้ม แดง เขียว เหลือง มะเขือเทศ รวมไปจนกระทั่งถึงพริกขี้หนูควรจะเป็นกระบวนการที่ต้องส่งเสริมที่สำคัญ โดยทั้งสามารถป้องกันและชะลอโรคที่เกิดขึ้นแล้วได้

หมอธีระวัฒน์ แนะนำให้หยุดบุหรี่เด็ดขาด เอาบุหรี่ขุดหลุมฝัง เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเอาไปสูบต่อ หยุดเดี๋ยวนี้เพื่อตนเองครอบครัวสังคมและระบบสาธารณสุขไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง