สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานประชุมวิชาการ Thailand - Japan Student Science Fair 2023

View icon 2.5K
วันที่ 20 ธ.ค. 2566 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.36 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมเจ้าฟ้า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ทรงเปิดงานประชุมวิชาการ Thailand - Japan Student Science Fair 2023 ซึ่งกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 ธันวาคม 2566 เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และญี่ปุ่น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และศิลปวัฒนธรรม ผ่านการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ และทำกิจกรรมภายใต้แนวคิด "การบ่มเพาะนวัตกรรมผ่านมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างเยาวชนไทยและญี่ปุ่น" เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสเปิดงานฯ และทอดพระเนตรการแสดงชุด "วาดฟ้อนสะออนบุญไทเลย", การแนะนำโรงเรียนที่ร่วมเสนอผลงาน, การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ได้แก่ โครงงานสาขาชีววิทยา เรื่อง "การพัฒนาสูตรฟิล์มไคโตซานที่กักเก็บสารสำคัญจากกานพลูเพื่อต้านเชื้อราที่ก่อโรคขั้วหวีเน่าของกล้วย" ของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ซึ่งพบว่าแผ่นฟิล์มไคโตซานที่มีส่วนผสมของสารสกัดกานพลูจากตัวทำละลายเอทานอล 95% ที่ความเข้มข้นต่ำสุด สามารถยับยั้งเชื้อราได้ดีที่สุด และโครงงานสาขาฟิสิกส์ เรื่อง "การผสมผสานการออกแบบโครงสร้างบ้านทรงไทยเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว" ของนักศึกษาจาก Toyota KOSEN ประเทศญี่ปุ่น พบว่าโครงสร้างชนิดทนความแข็งแรงทนทานสามารถทนต่อการสั่นไหวได้ดี และโครงสร้างชนิดต้านทานความเหนียวสามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี ซึ่งสามารถนำผลการทดลองไปใช้สร้างบ้านเสาสูงทำจากไม้ และบ้านญี่ปุ่น

ในการนี้ ทรงฟังบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์ โทโมยูกิ ไนโต๊ะ ผู้ช่วยอธิการบดี Graduate School of Information Technology Kobe Institute of Computing ประเทศญี่ปุ่น เรื่อง "AI ทักษะแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน" โดยอัลกอริธึมที่เป็นรากฐานของ Generative AI มีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์สำหรับงานต่าง ๆ เช่น การจัดหมวดหมู่ภาพ โดยได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ AI ทักษะแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืน และการบรรยายพิเศษของรองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์นงลักษณ์ มีทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง "นวัตกรรม มข. เปลี่ยนขยะและเหมืองทองคำที่มองไม่เห็น ให้เป็นพลังงานแห่งอนาคตตั้งแต่วันนี้"

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารหอสมุด ทอดพระเนตรการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ในรูปแบบโปสเตอร์ของนักเรียนญี่ปุ่น 8 โครงงาน, โครงการอาสาสมัครนักวิทยาศาสตร์เยาวชน , โครงการบริการวิชาการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนของกลุ่มโรงเรียนวิทยศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และผลงานความสำเร็จของครูโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 800 คน ทั้งผู้บริหาร ครู และนักเรียน จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในประเทศไทย และญี่ปุ่น 67 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียน Super Science High School 18 แห่ง สถาบันโคเซ็น 13 แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทย 36 แห่ง มีกิจกรรมหลัก คือ การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ 165 โครงงาน และมีกิจกรรมทางวิชาการ เช่น ศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่จังหวัดเลย, ฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงในการจัดงาน

ข่าวอื่นในหมวด