ฉายาสภาผู้แทนราษฎร 2566 : สภา ลวง ละคร

View icon 98
วันที่ 27 ธ.ค. 2566 | 11.23 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เมื่อวานเป็นฉายาของรัฐบาล วันนี้ถึงคิวของสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกสื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งฉายาให้ ผู้สื่อข่าวกระซิบมาบอกว่า ครั้งนี้ยังไม่มีดาวเด่น เพราะยังทำงานได้ไม่ครบปี แต่ดาวดับมีแน่นอน

ฉายาสภาผู้แทนราษฎร 2566 : สภา ลวง ละคร
เริ่มต้นกันด้วยฉายาของสภาผู้แทนราษฎร ผู้สื่อข่าวให้ฉายา "สภาลวงละคร" ก็เพราะเป็นสภาที่มีการชิงไหวชิงพริบ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่รับบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายพลิกเกม ฉีกเอ็มโอยู รวมเสียงข้างมาก เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ทั้งที่เคยจับมือกอดคอกันอย่างหวานเจี๊ยบกับพรรคก้าวไกล เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง

"วุฒิสภา" ได้ฉายา "แตก ป. รอ Retire" ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 2565 คือ ตรา ป. ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. แต่ในปีนี้ 2 ป. แยกทางกันแล้ว และปีหน้า สว.กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ได้ฉายา "(วัน) นอมินี" เพราะตำแหน่งนี้ ก้าวไกลกับเพื่อไทยเคยแย่งชิงกันมาก่อน ก่อนที่จะตกลงกันได้ว่าให้โควตาเพื่อไทย จึงได้เสนอชื่ออาจารย์วันนอร์ ดังนั้น จึงเป็นเสมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้ อีกทั้งพรรคประชาชาติ ถูกมองว่ามีพรรคเพื่อไทยเป็นเงามาโดยตลอด

ส่วน นายพรเพชร วิชิตชลชัย "ประธานวุฒิสภา" ได้ฉายา "แจ๋วหลบ จบแล้ว" คำว่า แจ๋ว เปรียบเสมือนบทบาทของผู้รับใช้ ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นายพรเพชรถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พยายามลดบทบาทของตัวเองลง เพื่อลดแรงปะทะ เลี่ยงตอบคำถามกับสื่อ เหมือนรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567

นายชัยธวัช ตุลาธน "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นควรว่าควรงดตั้งฉายา เนื่องจากเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และยังไม่ได้เริ่มทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

เช่นเดียวกับ "ดาวเด่น" ผู้สื่อข่าวเห็นว่า ยังไม่มีใครเหมาะสมโดดเด่นเพียงพอที่จะเป็นดาวเด่นแห่งปี

แต่ "ดาวดับ" ยกให้พ่อของส้ม "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ที่โดดเด่นตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งผลการเลือกตั้งชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝัน ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะคดีถือหุ้นไอทีวี เหมือนถูกดับแสงดาวกลางสภา ก็เลยกลายเป็นดาวดับ

สำหรับ "วาทะแห่งปี" เป็นวาทะของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ลุกขึ้นชี้แจงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กลางที่ประชุมรัฐสภา

ส่วน "เหตุการณ์แห่งปี" คือ "เลือกนายกรัฐมนตรี" ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีมากถึง 3 ครั้ง 2 ครั้งแรก เสนอชื่อ นายพิธา ไม่ผ่าน ครั้งที่ 3 ผ่านฉลุยหลังพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน

คู่กัดแห่งปี ปีนี้ยังงดไปก่อน เพราะยังไม่มีสมาชิกปะทะคารมกันอย่างรุนแรงจนเป็นคู่กัดแห่งปีได้ เช่นเดียวกับ "คนดีศรีสภา" งดตั้งฉายานี้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว เชื่อว่าหลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ก็จะมีปฏิกิริยาจากผู้ที่ถูกตั้งฉายาตามมาแน่นอน

ประธานสภาฯ ลั่น ไม่เป็น นอร์มินีใคร แต่ไม่โกรธ
ความเห็นของท่านประธานสภาฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หลังจากที่รู้แล้วว่าตัวเองได้ ฉายา วันนอมินี ท่านบอกว่าไม่โกรธ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นการหยอกล้อของสื่อมวลชนรัฐสภา แต่ท่านย้ำว่าตัวเองเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง เพื่อให้มีรัฐบาลเป็นไปตามกลไก มีนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนอมินีใคร

ส่วนฉายา "สภาฯ ลวงละคร" นั้น มองว่าสภาฯ เป็นที่ถกเถียงกัน ถ้ายังไม่มีข้อยุติก็ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปมา อาจจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเพื่อหาข้อยุติ เป็นแบบนี้เหมือนกันทั้งโลก สภาฯ ไทยอาจจะดีกว่าหลายประเทศด้วยซ้ำไป

ส่วน นายพรเพชร วิชิตชลชัย บอกว่า อย่าไปตีความว่าแจ๋ว เป็นแค่ผู้รับใช้ แท้จริงก็คือคนทำงาน ตัวท่านเองก็ยังทำงานตลอด แค่เปลี่ยนบทบาทจากแม่น้ำ 5 สาย ลงเรือแปะ สมัยรัฐบาล คสช. มาเป็น สว. รัฐบาลเพื่อไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง