คอลัมน์หมายเลข 7 : ส่งคืนวัว โครงการโคบาลชายแดนใต้ ไม่ตรงสเปก

View icon 166
วันที่ 23 ม.ค. 2567 | 20.12 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - เกษตรกรผู้เลี้ยววัว โครงการโคบาลชายแดนใต้ ในจังหวัดปัตตานี เดือดร้อนอย่างหนักหลังจากได้รับวัวไม่ตรงสเปก เกิดอะไรขึ้นกับโครงการภายใต้งบประมาณ​กว่า 1,500 ล้านบาท ไปติดตามกับ คุณอรรถพล ดวงจินดา ในคอลัมน์หมายเลข 7

เป็นการถกเถียงกันระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในจังหวัดปัตตานี กับผู้ประกอบการ หลังมีการส่ง-มอบวัวของโครงการโคบาลชายแดนใต้ ภายใต้งบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท แต่กลับพบปัญหา สภาพวัวไม่ตรงปก ไม่ถูกสเปก ตามที่ระบุไว้ในสัญญา จนมีการร้องเรียน ให้ ป.ป.ช. เข้ามาช่วยตรวจสอบ ก่อนจะมีการไกล่เกลี่ย จนผู้ประกอบการ ยินยอมเปลี่ยนและรับวัวที่ผอมโซจนเห็นซี่โครงคืนกลับไป พร้อมกับยกเลิกสัญญา จ่ายเงินคืนให้ปศุสัตว์ปัตตานี เพื่อให้เกษตรกรไปซื้อวัวจากบริษัทอื่นแทน แม้จะเชื่อว่าเกิดจากการขนส่ง และการเลี้ยงของกลุ่มเกษตรกร

ข้อมูล จาก ป.ป.ช.ระบุว่า โครงการโคบาลชายแดนใต้ ที่เกษตรกรในจังหวัดปัตตานีได้รับ ใช้งบประมาณราว 400 ล้านบาท ในระยะ 3 ปี เป็นโครงการที่อยู่ในระยะนำร่อง 16 กลุ่ม โดยให้เกษตรกร รวมกลุ่มขอสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนเพื่อซื้อวัว จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ในราคาตัวละ 17,000 บาท รวมถึงค่าก่อสร้างโรงเรือน กลุ่มละ 350,000 บาท

แต่จากการตรวจสอบ กลับพบว่าน้ำหนักวัวไม่ถึง 160 กิโลกรัม ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้จริง อีกทั้งโครงสร้างโรงเรือนยังไม่ตรงสเปกในหลายจุด

สำหรับโครงการโคบาลชายแดนใต้ เป็นโครงการที่อยู่ในความดูแลของ 4 หน่วยงาน ซึ่งเชื่อว่า หากดำเนินการได้บรรลุวัตถุประสงค์ อนาคตจะมีวัว ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึง 50,000 ตัว ในระยะ 3 ปี

ขณะที่ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี เตรียมเพิ่มหลักเกณฑ์ในสัญญา เพื่อให้เกิดความรัดกุม โดยเฉพาะน้ำหนักวัว ที่กำหนดไว้ 160 กิโลกรัม ต้องถึงฟาร์มของเกษตรกรซึ่งเป็นปลายทาง เพื่อป้องกันปัญหา และลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ภาค 9 ที่จะเฝ้าจับตาโครงการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย