สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ที่จังหวัดปัตตานี

View icon 628
วันที่ 24 ม.ค. 2567 | 20.07 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 13.45 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังแหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการเป็นไตรมาสที่ 2-3 ภายใต้โครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ OTOP หรือกลุ่มอาชีพ ในการนำแนวคิดสมัยใหม่มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชุมชนไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล และมีองค์ความรู้ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดสู่คนอื่นในชุมชนได้ โดยน้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" มาส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการฯ เฝ้าถวายการบ้าน ซึ่งได้พระราชทานคำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการฯ ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อปี 2566 พร้อมพระราชทานหนังสือจากโครงการตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" อาทิ สมาชิกศิลปาชีพฯ ย่านลิเภา จังหวัดนราธิวาส ที่สานเป็นทรงโบราณ รูปทรงรี มีหวายสานแบบโปร่ง ได้พระราชทานคำแนะนำให้สานให้ละเอียด พัฒนารูปทรงให้ทันสมัยมากขึ้น และทำให้หนาดูมีมิติ, สมาชิกศิลปาชีพ กลุ่มกระจูด บ้านทอนอามาน จังหวัดนราธิวาส ที่นำกระจูดมาสานเป็นกระเป๋าลวดลายโบราณ และนำผ้าไหมมาประกอบเป็นทรงกระเป๋า พระราชทานคำแนะนำให้นำผ้าไหมปลายไม้หรือผ้าบาติกมาใช้ รวมทั้งทำกระเป๋าเป็น 2 ขนาด, สมาชิกศิลปาชีพฯ บ้านรอตันบาตู จังหวัดนราธิวาส พัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิก ให้มีขนาดที่หลากหลาย มีการใช้สีที่สวยงามขึ้น ซึ่งพระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมให้ทำเป็นชุดสำรับอาหารไทย โดยให้ก้นของจานนูนเพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนาลวดลายจากสถาปัตยกรรมไทย เช่น โมเสกกระเบื้องวัดอรุณราชวราราม, กลีบดอกไม้ และแมลงต่าง ๆ

ทั้งนี้ โปรดให้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้งดีไซน์เนอร์ชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ อาทิ การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นร่วมสมัย, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล

จากนั้น ทอดพระเนตรการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรม จากจังหวัดปัตตานี ยะลา สตูล สงขลา นราธิวาส และพัทลุง 28 กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้ผลิต และผู้ประกอบการผ้าบาติก ด้วยมีพระประสงค์ที่จะพัฒนา ต่อยอด และส่งเสริมผ้าบาติกให้เป็นที่นิยมในระดับประเทศและนานาชาติ ภายใต้โครงการ "บาติกโมเดลสู่ตลาดสากล" รวมทั้งจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 19 กลุ่ม อาทิ กลุ่ม Assama Batik จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ใช้บล็อกไม้โบราณผสมงานเขียนมือ และนำลายยะลารวมใจ ที่มีดอกพิกุล ดอกไม้ประจำจังหวัด และแห หรือยาลอ ผสมผสานลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์ จนเป็นลวดลายใหม่ที่สวยงาม, กลุ่มจักสานบ้านคลองปอม จังหวัดปัตตานี นำเส้นใยพืช เส้นพลาสติก มาจักสานลวดลายโบราณ และประยุกต์เป็นลวดลายใหม่, กลุ่มห้องหัตถกรรม จังหวัดปัตตานี โดยสามเณรสุธานน ทองคำ ที่สนใจการร้อยลูกปัดมโนราห์ และคริสตัล จัดตั้งกลุ่มให้ความรู้กับผู้สูงอายุ และเยาวชน เพื่อสร้างรายได้ และสืบสานงานหัตถกรรมท้องถิ่น

โอกาสนี้ พระราชทานลายผ้าประจำจังหวัดปัตตานี ชื่อลาย "ชบาปัตตานี" แก่นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษา ครบ 3 รอบ ในปี 2566 เพื่อให้ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค และเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มุ่งมั่นสืบสาน ต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่นให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทย สำหรับผ้าลาย "ชบาปัตตานี" ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นของจังหวัด และทรงออกแบบผสมผสานกับลายดอกชบาและลายเถาไม้เลื้อย เป็นผ้าพื้นสีเขียวและสีเหลือง สีประจำจังหวัด บนผืนผ้าพิมพ์ลวดลายดอกชบา ดอกไม้ประจำจังหวัด ผสมผสานลายปาต๊ะสี่เหลี่ยม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะช่องลม มัสยิดรายาฟาฎอนี ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง

จากนั้น ทอดพระเนตรการสาธิตทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านกูบังบาเดาะ อำเภอมายอ ที่มีลายเอกลักษณ์เฉพาะมากว่า 200 ปี ปัจจุบัน มีเยาวชนสนใจศึกษา เรียนรู้ เพื่อสืบสานงานหัตถกรรมพื้นถิ่น โดยทรงแนะนำให้ปรับปรุงรูปแบบ และมีขนาดที่หลากหลาย นอกจากนี้ ทอดพระเนตรผ้าลายอัตลักษณ์ภาคใต้ ในโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง และหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ยะลา สตูล สงขลา นราธิวาส พัทลุง และสุราษฎร์ธานี อาทิ ผ้ายกฝ้าย ลายศรีสุราษฎร์ เป็นลายใหม่ที่นำลวดลายท้องถิ่น คือ ลายราชวัตรโคมใหญ่ ลายดอกรักราชกัญญา และเชิงผ้า ลวดลายอัตลักษณ์ของตำบลพุนพิน ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี เก็บรวบรวมข้อมูลมาประยุกต์รวมกัน คือ เชิงจากยอดปาล์มยอดมะพร้าว ที่มองลงมาจากยอดเขาศรีวิชัย ลายดอกเอเดลไวส์ ดอกไม้ประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, ผ้าลีมาบาติก ที่พัฒนาลวดลายมาจากผ้าทอจวนตานี หรือผ้าลีมา ผ้าโบราณของปัตตานี และการพัฒนาทักษะอาชีพช่างศิลป์ท้องถิ่นทำแม่พิมพ์โลหะ สำหรับทำผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ ของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งปัจจุบันสามารถออกแบบ ผลิต และขาย รวมทั้งส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีและระบำรองเง็ง ของวงอาเนาะบุหลัน ในเพลงอูดังซามาอูดัง และเพลงเมาะอินังลามา โดยนักเรียนโรงเรียนวัดสุวรรณากร อำเภอหนองจิก ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีเพลงพื้นเมืองในแถบแหลมมลายู ซึ่งการแสดงคงไว้เฉพาะนักแสดงหญิง เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นและโรงเรียน

ข่าวอื่นในหมวด