นราธิวาสเจอตัดไม้ แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งสอบเจ้าหน้าที่เอี่ยว

นราธิวาสเจอตัดไม้ แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งสอบเจ้าหน้าที่เอี่ยว

View icon 145
วันที่ 5 ก.พ. 2567 | 17.12 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งสอบเจ้าหน้าที่เอี่ยว ลักตัดไม้บนเขาเมาะแต จ.นราธิวาส หรือไม่ หลังไม้ท่อนไม้ซุงถูกน้ำป่าพัดไหลหลากลงมาในหมู่บ้านที่จังหวัดนราธิวาส จำนวนมาก หวั่นดินโคลนถล่มซ้ำรอยกะทูน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 30 ปี ก่อน

นราธิวาส วันนี้(5 ก.พ.2567) พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ลงพื้นที่ตรวจสอบฝาย บ้านบระเอ็ง ตำบล มะรือโบตก อำเภอ ระแงะ จังหวัด นราธิวาส หลังจากเมื่อวันที่ 25-26 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาเกิดเหตุยิงคน และภูเขา เมาะแต ถล่มจนน้ำป่าไหลหลาก พาก้อนหิน ต้นไม้ ไม้ท่อน ไม้ซุงลงมาในพื้นที่หมู่บ้านรอบเขาเมาะแต เป็นจำนวนมาก

พลโทศานติ เปิดเผยหลังสำรวจความเสียหายของฝายบ้านบระเอ็งว่า พบความเสียหายจากก้อนหินและต้นไม้ใหญ่ที่ไหลมาตามน้ำหลากมีปริมาณมาก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเคลียร์พื้นที่ เพราะว่าเป็นเส้นทางน้ำไหลมาจากร่องเขา ส่วนสาเหตุเกิดจากปริมาณฝนตกมากจนน้ำป่าไหลหลาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนแล้ว

ส่วนปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังรุนแรงเหมือนเดิม ก็ยอมรับว่า ยังมีการตัดต้นไม้บนภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอยู่ในหลายพื้นที่ และจากการบินสำรวจพื้นที่แล้วก็พบเป็นหย่อม ๆ ขณะที่ต้นเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ก็เข้าจับกุม และยึดไม้ได้จำนวนมาก ทำให้ขณะนี้ต้องเร่งสืบสวนสอบสวนว่าใครอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งตนก็ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดรวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และ ผู้นำท้องถิ่น ให้ช่วยกันรักษาป่า เพราะผู้ที่จะตัดไม้ได้ก็เป็นคนที่ต้องการหารายได้จากป่าไม้ และนำไม้ที่ตัดออกนอกพื้นที่ หรือนำมาใช้เอง ก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุมต่อเนื่องแต่ก็ต้องสืบสวนว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ และถ้าเกี่ยวพันกับใครก็ต้องดำเนินการ ซึ่งตนก็ได้สั่งการให้หน่วยทหาร และตำรวจในพื้นที่ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการหาต้นตอ สาเหตุเกิดจากอะไร

ส่วนสภาพของเขาเมาะแตขณะนี้ ก็กังวลว่า ในอนาคตจะเกิดดินโคลนถล่มเหมือนที่อำเภอกะทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2531 และหลังจากมีการฟื้นฟูสภาพพื้นที่แล้วก็ต้องวางระบบป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย เพราะหากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันก็จะเกิดน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มพัดพาต้นไม้ลงมายังพื้นที่ราบได้ จึงกำชับหน่วยงานในพื้นที่ ให้ประสานงานกับทางจังหวัดรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่เชิงเขาและพื้นที่ลุ่ม

ด้าน นายสุธี ขอบขำ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ ต้นไม้รวมทั้งไม้ท่อนและไม้ซุงที่ถูกน้ำป่าคัดไหลหลากลงมาพื้นที่ราบแล้ว ซึ่งมีการประสาน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ให้มาตรวจสอบไม้ทั้งหมดว่า ท่านใดที่จะนำไปแปรรูปเป็นสินค้าได้ และหากท่านใดที่นำไปแปรรูปไม่ได้ก็จะให้ชาวบ้านในพื้นที่ นำไปซ่อมแซมบ้าน เนื่องจากชาวบ้านหลายคน มีบ้านที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำป่าไหลหลากในครั้งนี้ รวมทั้งพื้นที่การเกษตร สวนยางพาราก็เสียหายด้วยเช่นกัน หรือให้นำไปขายให้กับ โรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ที่มีการรับซื้อเศษไม้

ทั้งนี้ ไม้ท่อนที่ถูกน้ำป่าพันลายหลากลงมา ไม่ใช่ไม้ที่เกิดจากการตัดทั้งหมด แต่เกิดจากปริมาณน้ำมากเกินไปและ ภูเขามียอดเขาเพียงยอดเดียว ภูเขาจึงอุ้มน้ำไม่ไหวหลังฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จนทำให้ภูเขาแตก ซึ่งไม้ที่เห็นเป็นกอก็มาจากสวนชาวบ้านแต่ไม้ที่เป็นท่อนและสำรวจเอาไว้ 5 จุด มีประมาณ 400 กว่าท่อน ส่วนพื้นที่ที่ภูเขาแตกน่าเป็นห่วงหรือไม่นั้น ก็ยอมรับว่าเกิดจากสภาวะ อากาศของโลกเปลี่ยนแปลง จึงทำให้มรสุมทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม ซึ่งปีหน้าหากฝนตกติดต่อกัน 1-2 วัน ก็ต้องเตรียมตัวอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ และในอนาคตก็จะต้องมีการแจ้งเหตุในพื้นที่ และหลังจากเคลียร์พื้นที่ ก็จะดำเนินการป้องกันรักษาป่า โดยเฉพาะการลาดตระเวนเข้มงวดมากขึ้น แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่สีแดงที่ไม่ปลอดภัย ทำให้มีขีดจำกัด
และหากจุดใดปลูกต้นไม้ได้ ก็จะนำต้นกล้ามาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน มาช่วยกันปลูกป่าเพิ่มเติม และนำหญ้าแฝก มาปลูก ในพื้นที่ลาดชัน ส่วนฝาย ที่ถูกน้ำป่า พัดพังเสียหายทั้งหมด 5 จุด ก็ได้ประสานกับ กรมชลประทาน จึงจะเร่งเข้าซ่อมแซมหรือสร้างใหม่

สำหรับปัญหาตัดไม้ทำลายป่าบนเขาเมาะแต พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าตาม พรบ.ป่าไม้มี 2484 ไม่มีแนวเขต และเป็นพื้นที่เตรียมการ ประกาศ อุทยาน แห่งชาติ น้ำตกซีโป ซึ่งบางแปลงชาวบ้านทำกินอยู่แล้วหากเจ้าหน้าที่เข้าไปบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาด ก็จะลำบากใจกับชาวบ้านซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการกับกรณีที่มีการบุกรุกใหม่ ให้เด็ดขาด