แต่งดำยื่นหนังสือถึงหมอชลน่าน เครือข่ายแพทย์สุดทนจี้สอบงบ สปสช.

แต่งดำยื่นหนังสือถึงหมอชลน่าน เครือข่ายแพทย์สุดทนจี้สอบงบ สปสช.

View icon 291
วันที่ 13 ก.พ. 2567 | 17.22 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เครือข่ายแพทย์แต่งดำ ยื่นหนังสือถึงหมอชลน่าน วอนตั้ง Provider board กำหนดอัตราค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุนตามจริง อัดยับต้นทุน 1 หน่วยบริการ 1.3 หมื่นบาท แต่ สปสช.กำหนดจ่าย 8,300 บาท นั่นหมายความว่าขาดทุนเท่าไหร่ ย้อนหลังไปขาดทุนเท่าไหร่ รพ.โรงเรียนแพทย์ ติดลบพันล้าน

วันนี้ (13 ก.พ. 2567) รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และตัวแทนชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วโลก ชมรมคลินิกชุมชนอบอุ่น ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ กว่า 100 คน แต่งชุดดำ มายื่นหนังสือและขอเข้าพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

โดยยื่นข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.มีการทบทวนการบริการจัดการของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 2.สนับสนุนให้มีตัวแทนของผู้ให้บริการเข้าไปร่วมเป็น Provider board ในการคณะกรรมการกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้มาร่วมชุมชน ต่างถือป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น “บัตรทองในพื้นที่ กทม.เงินไปไหนหมด ไม่มีเงินจ่ายคลินิกบัตรทอง” “รพ.เอกชน ถอยถอนตัวออกจากระบบหลักประกันสุขภาพ”

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การบริการจัดสถานพยาบาลเอาเม็ดเงินเป็นตัวตั้ง แล้วมากำหนดการบริการ ทำให้ระบบบริการบิดเบี้ยว ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนถอนตัวออกจากระบบหลักประกันสุขภาพฯ เหลือประมาณ 20-30 แห่ง เป็น โรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาเม็ดเงินจาก สปสช. จึงเข้าร่วมโครงการ หากปล่อยเช่นนี้ต่อไป มีแต่สถานพยาบาลเอกชนถอนตัว  

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนโรงพยาบาลรัฐ ทนกันมานาน เพราะออกจากระบบไม่ได้ และเริ่มภาพปัญหาการขาดสภาพคล่องเริ่มชัดเจนมากขึ้น หลังปัญหาโควิดที่ทุกโรงพยาบาลพร้อมใจกันช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างเต็มที่  สปสช.ก็จ่ายเงินตามอัตราการบริการตามที่สถานพยาบาลเบิกจ่าย แต่ในงบประมาณปี 2566 การกำหนดอัตราค่าบริการ โดยไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า และต้นทุนที่สะท้อนความเป็นจริง ส่งผลให้โรงพยาบาลในเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ที่เก็บข้อมูลพบว่าการให้บริการผู้ป่วยนอก ขาดทุน 1,000 ล้านบาท  ซึ่งในปีงบประมาณ 2567  ก็คงไม่แคล้วกัน จึงทนไม่ไหวต้องออกมาเรียกร้อง

รศ.นพ. สุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น พบในกทม. ที่ไม่มีความชัดเจน ว่าไม่มีหน่วยงานใดหรือระบบใดรับผิดชอบเป็นหลัก เนื่องจากมีความหลากหลาย รูปแบบในการให้บริการ ผิดกับต่างจังหวัดที่มีเครือข่ายการให้บริการ มีระบบติดตามตัวผู้ป่วย ทำให้สถานะของคนกรุงเทพฯ เปรียบเสมือนเจ้าไม่มีศาล จึงอยากให้ รมว.สาธารณสุข เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเกิดความเชื่อมั่นในระบบ โดยกลุ่มเครือข่าย รพ. จะติดตามสถานการณ์เป็นระยะ และยังให้บริการกับประชาชนตามปกติ เพราะแพทย์ทุกคนถูกสอนให้เป็นมืออาชีพ เห็นแก่ประชาชนและเพื่อนมนุษย์เป็นสำคัญ 

ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า เข้าใจภาวะงบประมาณที่จำกัดของ สปสช. แต่ระบบการบริการที่เอาเม็ดเงินเป็นตัวนำ ไม่สอดคล้องกับแนวคิดขององค์การอนามัยโลก ที่ให้ระบบบริการนำระบบการเงิน การกำหนดอัตราการเบิกจ่ายของ สปสช. ที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากผู้ให้บริการอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถสะท้อนต้นทุน บนพื้นฐานความเป็นจริง และมีการพิจารณาหลักเกณฑ์แบบเร่งรัด ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ต้นทุน 1 หน่วยบริการ อยู่ 13,000 บาท แต่ สปสช.กำหนดจ่าย 8,300 บาท  นั่นหมายความว่า ขาดทุนเท่าไหร่ และย้อนหลังไปขาดทุนเท่าไหร่

พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น เรียกร้อง สปสช. ให้จ่ายเงินค่าบริการเต็มจำนวน เนื่องจากคลินิกได้ให้การดูแลประชาชนไปแล้ว ลำพังการบริการงบประมาณ มีการใช้งบประมาณของไตรมาส 3 ไปแล้ว 50 %  คาดว่าไม่เกิน 6 เดือน ใช้งบปี 2567 หมดแน่ จึงอยากให้มีการตรวจสอบการบริการจัดการงบประมาณของ สปสช.

ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. มาร่วมรับหนังสือ จากนั้นเข้าหารือกับเครือข่ายแพทย์ที่ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง