เวลา 13.16 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 29 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มศิลปาชีพ จังหวัดสกลนคร 1 กลุ่ม อาทิ ผ้าไหมยกลายดอกพิกุล ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านน้อยนาเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ มีการใช้สีพาสเทล ให้มีความละมุนมากขึ้น, ผ้าลายลอดช่องปุยฝ้าย ของกลุ่มแปรรูปธรรมมือ จังหวัดมุกดาหาร นำปุยฝ้ายมาทอโดยสอดปุยฝ้ายระหว่างช่องของเส้นยืน เพื่อให้เกิดลวดลาย, กระเป๋ากก ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานกกเหล่าพัฒนา จังหวัดนครพนม ที่ผสมการตกแต่งด้วยหนัง ให้สวยงามและแข็งแรง, ผ้าไหมแพรวา ของกลุ่มชุมชนภูไทดำ จังหวัดกาฬสินธุ์ นำลายแพรวาโบราณมาปรับรูปแบบใหม่ให้ลายชัดเจนขึ้น, ผ้ามัดหมี่ลายเกียวใจ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำริมโขงเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นลายปักเฉพาะงานมงคล นำมาออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ และผ้ายกดอกลายโบราณ "ลายเทพพนม" ของกลุ่มทอผ้ายกดอกลายโบราณ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ปรับลายให้เล็กลง และย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยทอผ้ายกดอกด้วยดิ้นทอง เส้นยืนและเส้นพุ่งเป็นไหม ใช้สีเปลือกมะพร้าวอ่อน และสีครั่ง ในการนี้ พระราชทานหนังสือจากโครงการตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ด้วย
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ เฝ้าถวายการบ้าน โดยทรงนำประสบการณ์จากการทรงงาน ทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง และพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบมาพระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับคุณภาพและมูลค่า อาทิ เซรามิก จากศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร โดยกลุ่มงานตะกร้า เผาให้มีน้ำหนักเบาขึ้น พระราชทานคำแนะนำให้ทำเป็นเนื้อด้าน และปั้นของตกแต่งเป็นดอกไม้ไทย รวมทั้งเพิ่มรูปแบบให้หลากหลาย, ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่จากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านดอนคำ-เสนานฤมิต จังหวัดสกลนคร ที่เปลี่ยนมาใช้สีธรรมชาติ ปรับรูปทรงและขนาดให้หลากหลาย, ผ้าไหม จากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ที่ย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ พระราชทานคำแนะนำให้เพิ่มลำหมี่และมัดหมี่ให้เล็กลง ในการนี้ มีรับสั่งให้ฟื้นฟูผ้า "อัญญานาง" ผ้าโบราณของอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ โปรดให้ คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ประกอบด้วย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้งดีไซน์เนอร์ชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด
นิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นภายใต้ "โครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย" เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ OTOP หรือกลุ่มอาชีพ ในการนำแนวคิดสมัยใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชุมชนไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล มีองค์ความรู้ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดสู่คนในชุมชนได้ โดยน้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" มาส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ให้รายได้กลับสู่ชุมชน
นอกจากนี้ มีการจัดแสดงนิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ผ้ามัดหมี่ลายหมี่คั่นขอนารี ของจังหวัดชัยภูมิ, ผ้ามุกนครพนม, ผ้าลายสาเกตของร้อยเอ็ด, ผ้าเหยียบลายลูกแก้ว ของจังหวัดศรีสะเกษ, ผ้ายกดอกลายโค้งภูพาน ของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร รวมทั้งสาธิตการทำเครื่องทองเหลือง จากศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีอายุมากกว่า 200 ปี มีวิธีการหล่อทองเหลืองแบบโบราณที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เรียกว่า การหล่อแบบการสูญขี้ผึ้ง
ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงวงโปงลางบัวอุบล มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ชุด "กังวานก้องฆ้องทรายมูล" โดยนักศึกษาและคณาจารย์ สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร ที่นำผลิตภัณฑ์ชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์ของตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร มานำเสนอในรูปแบบนาฏศิลป์สร้างสรรค์ในการแสดงโปงลาง
เวลา 16.15 น. เสด็จไปยังบ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ ของนางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประยุกต์ศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) พุทธศักราช 2537
เดิมเป็นกิจการโรงทอผ้าไหม แหล่งผลิตผ้าไหมชั้นดีและมีชื่อเสียงของจังหวัด โดย นางคำปุน เรียนรู้การทอผ้าจาก นางน้อย มารดา ซึ่งมีชื่อเสียงในการทอผ้า ปัจจุบันบ้านคำปุนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้กระบวนการถักทอที่สืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิม โดย นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลปะ (ทอผ้า) พุทธศักราช 2564 บุตรของนางคำปุน เป็นผู้ดูแล
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการสาธิตการทำผ้าธัญพักตร์ และผ้าเยียรบับลาว รวมทั้งพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องผ้าเยียรบับเมืองอุบล ซึ่ง นายมีชัย ได้ฟื้นฟูการทำผ้าเยียรบับ เพื่อการอนุรักษ์
จากนั้น ทรงวางพวงมาลัยถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปไม้โบราณปางห้ามสมุทร ศิลปะล้านช้าง กับทอดพระเนตรนิทรรศการผ้า นางคำปุน มีความสามารถในการทอผ้าได้งดงาม สามารถทอผ้าปูมซึ่งต้องใช้ฝีมือขั้นสูง และฟื้นฟูผ้าซิ่นทิวมุก คิดค้นผ้ากาบบัว จนเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ชุมชน กระทรวงวัฒนธรรม จึงประกาศขึ้นทะเบียนผ้าเมืองอุบลราชธานี ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติ ในปี 2543
ปัจจุบัน นายมีชัย ผู้สืบทอดงานด้านผ้าจากมารดา มีผลงานการออกแบบผ้าทอ อาทิ ผ้าทอตามแบบฉบับของผ้าอีสาน และปรับปรุงโทนสีของผ้า, ออกแบบผ้าโดยผสมผสานกรรมวิธีทอผ้าแบบต่าง ๆ และพัฒนาลวดลายผ้าให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และออกแบบผ้าประยุกต์ตามแบบลวดลายผ้าราชสำนัก สำหรับใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเคยได้รับรางวัลพระราชทาน The Best of The Best เหรียญทอง ประเภทเทคนิคผสม จากการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ระดับประเทศ ประจำปี 2564 จังหวัดอุบลราชธานี
โอกาสนี้ พระราชทานลายผ้า "สิริวชิราภรณ์" แก่ภริยานายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงศึกษาลวดลายผ้าจากทุกภูมิภาค และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน "สิริวชิราภรณ์" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีลายพระราชทานหลัก 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์, ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567, ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี โดยได้พระราชทานแบบตั้งต้น 4 ประเภท ได้แก่ ผ้ากาบบัว, ผ้ายก จก ขิด แพรวา, ผ้ามัดหมี่, และผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลักทั้ง 4 ลายไปผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยังผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงชุดสิริวชิรายุ-อุบลราษฏร์ภักดี โดยชาวบ้านรุ่นเยาว์ บ้านหนองบ่อ เป็นการฟ้อนกลองตุ้ม ในชุดผ้าเมืองอุบลดั้งเดิม, การฟ้อนผ้ากาบบัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ ศิลปินหมอลำวัยรุ่น เต๋า ภูศิลป์ คณะฟ้อนถวายการต้อนรับของช่างทอผ้าบ้านคำปุน โดยนักเรียนโรงเรียนวารินชำราบ โดยทรงร่วมฟ้อนรำกับนักแสดงด้วย