บอร์ดอีวีเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่

บอร์ดอีวีเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่

View icon 124
วันที่ 24 ก.พ. 2567 | 10.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด บอร์ดอีวีเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวีเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยมาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 และที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ถือเป็นการใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีและตั้งเป้าหมายมาตรการดังกล่าวช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน

หากดูตัวอย่างในสหภาพยุโรปแล้วนั้น สหภาพยุโรปมีความพยายามผลักดันการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในการขนส่งสินค้าทางถนนเช่นกัน ทั้งนี้สหภาพยุโรปมีการวางแผนจะบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ภายใต้กฎหมายสภาพภูมิอากาศของยุโรป  โดยตั้งเป้าหมายรถบรรทุกและรถบัสใหม่เกือบทั้งหมดจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 90 ในปี 2583 และรถโดยสารประจำทางในเมืองทั้งหมดร้อยละ 100 จะต้องไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2573 อย่างไรก็ตามอ้างอิงข้อมูลจาก The International Council on Clean Transportation (ICCT) ระบุว่า แม้ว่ายอดขายรถบรรทุกไฟฟ้าในสหภาพยุโรปจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าทุกปี แต่ก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายทั้งหมด ในปี 2565 มูลค่าการขายรถบรรทุกไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 0.3 เท่านั้นจากยอดการขายรถบรรทุกหนักทั้งหมดประมาณ 260,000 คัน  เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์มีส่วนแบ่งยอดขายรถบรรทุกไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นประมาณร้อยละ 65

ความท้าทายที่สำคัญในตลาดสหภาพยุโรป คือ  ความพร้อมใช้งานของโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จที่ต้องครอบคลุมทุกพื้นที่และเข้าถึงได้  สำหรับกลุ่มยานพาหนะที่จัดส่งในเมืองและระหว่างภูมิภาค แท่นชาร์จส่วนตัวสามารถรองรับความต้องการพลังงานจำนวนมากได้  อย่างไรก็ตาม ผู้ขนส่งทางไกลจะต้องใช้ที่ชาร์จพลังงานสูงระหว่างทาง  ภายใต้กฎระเบียบโครงสร้างพื้นฐานเชื้อเพลิงทางเลือก (AFIR) ถือเป็นกรอบที่สำคัญที่จะช่วยวางโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จได้อย่างเป็นระบบและแม่นยำและช่วยกระตุ้นตลาดเพื่อลดช่องว่างการชาร์จที่มีอยู่ ทั้งนี้โมเดลโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จของ ICCT นั้นมีการประเมินว่า AFIR จะสามารถรองรับความต้องการการชาร์จของรถบรรทุกไฟฟ้าได้ประมาณ 3 ใน 4 ภายในปี 2573

สำหรับประเทศไทย ความท้าทายของผู้ประกอบการในช่วงเปลี่ยนผ่านมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้า แบ่งเป็น  ด้านราคาของรถบรรทุกไฟฟ้าในปัจจุบันที่ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรถบรรทุกสันดาปทั่วไป ด้านการใช้งานรถบรรทุกไฟฟ้ายังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกรูปแบบของการใช้งาน ทั้งเรื่องระยะเวลาและระยะทางต่อการชาร์จสูงสุดไม่เกิน 500 กิโลเมตรต่อรอบ ด้านข้อจำกัดด้านน้ำหนักของแบตเตอรี่ที่กับความจุและความสามรถในการบรรทุกน้ำหนักสินค้า และด้านเครือข่ายสถานีประจุแบตเตอรี่

“ความคืบหน้าวางแผนโครงสร้างพื้นฐานสถานีประจุแบตเตอรี่ของประเทศไทย” จากคู่มือโครงการจัดทําแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สําหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ปี 2565 ระบุถึงปัญหาลักษณะของการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าตามท่ีสาธารณะนั้นพบว่า การติดตั้งมีการกระจุกตัวส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากนั้นจึงมีการกระจายออกไปตามเมืองใหญ่ที่มีกำลังซื้อและขยายไปสู่เส้นทางสายหลักเพื่อรองรับการเดินทางระยะไกล แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ และเมื่อมีการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในด้านอื่นๆ อาทิ ความเพียงพอของจุดประจุ ความพร้อมของโครงข่ายข้อกำหนดกฎระเบียบกฎหมาย ความพึงพอใจของผู้ใช้งานธุรกิจและผลตอบแทนและความรู้และความเข้าใจ

สนพ. ได้มีการจัดทำร่างแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยได้มีการแบ่งเป้าหมายการดำเนินงานออกเป็นระยะสั้น (ปี 2022-2025) ระยะกลาง (ปี 2026-2030) และ ระยะยาว(ปี 2031-2035) ภายใต้ร่างแผนฯ ดังกล่าวคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ควรจะมีการติดตั้งเครื่องอัดประจุในพื้นที่เมือง จำนวน 8,227 เครื่อง พื้นที่ทางหลวง จำนวน 5,204 เครื่อง และเครื่องสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จำนวน 8,291 เครื่อง  โดยมีการแยกรายภาคชัดเจนและครอบคลุมพื้นที่ในแต่ละภาค จึงแสดงให้เห็นถึงการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมถึงรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดใหญ่

ปีนี้ภาครัฐจึงเร่งออกมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจให้ผู้ประกอบการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง